ก่อนหน้าผมเคยแชร์เรื่อง 13 กลุ่มสกิลแห่งอนาคตที่คนอยากทำงานในอนาคตต้องมี (โดย McKinsey) และ 8 เรื่องที่ควรเริ่มต้นศึกษาในปีหน้าเพื่อไล่ตามอนาคตให้ทัน ไปแล้ว ในบทความนี้ผมเลยอยากจะมาแชร์เรื่องที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างวิกฤตโควิด-19 กันอีกสักครั้ง
Gartner บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการตลาด การวิจัย และให้คำปรึกษาได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหัวหน้าฝ่าย HR จำนวน 800 คน เกี่ยวกับเรื่องเทรนด์การทำงานแห่งอนาคตหลังโควิดจบ โดยได้มีการสรุปใจความสำคัญเอาไว้ในรายงาน 9 Future of Work Trends Post-COVID-19
จะมีเทรนด์ และรายละเอียดปลีกย่อยอะไรบ้าง? วันนี้ผมจะพาคุณไปดูกันครับ
1. การเพิ่มขึ้นของ Remote Working
เล่าก่อนว่า Remote Working ไม่ใช่การทำงานรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากโควิด-19 แต่ที่จริงมันมีมานานแล้วครับ ผลสำรวจเผยว่า สมัยก่อนรูปแบบการทำงานนี้มีเพียงแค่ 30% เท่านั้น แต่จากการคาดการณ์หลังการระบาด Remote Working มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นถึง 48%
ผมคิดว่า การหันหัวเรือเปลี่ยนทิศทางใหม่ครั้งนี้ของหลายๆ องค์กรเป็นเรื่องที่ดีต่อทุกฝ่าย ถ้ามองในมุมของผม (นายจ้าง) ก็ดีตรงที่สามารถดึงดูด talent มาร่วมงานได้มากขึ้น ส่วนถ้ามองในมุมของลูกจ้างก็ดีในเรื่องความอิสระในการทำงาน
2. การเก็บข้อมูลภายในองค์กรจะ ‘ละเอียดขึ้น’
ผลสำรวจเผยว่า ช่วงที่ผ่านมานายจ้างกว่า 16% ใช้เทคโนโลยีติดตามพนักงานบ่อยขึ้น เช่น เวลาการเข้า-ออกงาน การตรวจสอบการสื่อสารภายในจากอีเมลบริษัท เป็นต้น
โดย Gartner คาดการณ์ว่า หลังโควิดจบ เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ จะถูกหยิบมาใช้มากขึ้น และละเอียดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เองก็ยังรวมไปถึงการเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัย และสุขภาพด้วย นับเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายกับ Privacy ประเด็น Talk of the town ในยุคปัจจุบันเลยทีเดียวครับ
3. การจ้างงานในรูปแบบ ‘ชั่วคราว’ จะเพิ่มขึ้น
หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น การจ้างงานก็อาจจะไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป! ความยืดหยุ่นภายในกลายมาเป็นโจทย์ครั้งสำคัญของนายจ้าง จากผลสำรวจพบว่า 32% ขององค์กรจะนำรูปแบบการจ้างงงาน ‘ชั่วคราว’ เข้ามาแทนที่รูปแบบการจ้างงานประจำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และปรับโครงสร้างภายในองค์กรให้หลวม ง่ายต่อการปรับตัวเมื่อเกิดวิกฤตครั้งใหม่
4. บทบาทของนายจ้างที่มากขึ้น
นายจ้างจะไม่ได้มีบทบาทแค่รับงาน และจ่ายค่าจ้างเหมือนในอดีต แต่บทบาทความรับผิดชอบนั้นถูกขยายให้มีต่อชีวิตลูกจ้างมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการ นโยบาย รูปแบบการทำงาน การรับมือกับความเสี่ยง และความช่วยเหลือต่างๆ
5. การแยกจากกันระหว่าง ‘ทักษะที่สำคัญ’ กับ ‘ตำแหน่งงานที่สำคัญ’
เดิมทีทักษะกับตำแหน่งงานมักจะเป็นภาพจำที่ถูกองค์กรมองแบบมัดรวม เช่น ทักษะการเขียนคู่กับตำแหน่ง Content Writer เพียงอย่างเดียว ซึ่งตามปกติแล้ว องค์กรก็จะโฟกัสไปที่ทักษะเฉพาะของตำแหน่งงานเพื่อพัฒนาให้พนักงานมีความ Specialist ในด้านนั้น
โดยจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ก็ทำให้หลายๆ องค์กรเริ่มหันมาปรับมุมมองกันใหม่ เปลี่ยนเป็นการพัฒนาให้มีความ Generalist รอบรู้ควบคู่กันไปแทน ไม่ได้ขึ้นอยู่กันตำแหน่งแบบเดิมๆ ทำให้พนักงานมีความรู้แบบ T-Shape เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด และโอกาสความก้าวหน้าใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
6. การมองลูกจ้าง ‘เป็นมนุษย์มากขึ้น’
Gartner คาดการณ์ว่า หลังการระบาดหลายองค์กรจะเริ่มมองลูกจ้างเป็น ‘คน’ มากกว่าการมองลูกจ้างเป็นฟันเฟืองของธุรกิจ
ความเป็นอยู่ของลูกจ้างจะถูกใส่ใจมากขึ้น ซึ่งถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออก ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือให้คุณลองไปดูบริษัทปัจจุบันที่คุณทำงานอยู่ (หรือเป็นเจ้าของอยู่) ว่าบริษัทปฏิบัติต่อคนในทีมอย่างไร
บริษัทที่ดีจะมี Empathy ต่อคนในทีมที่สูง จะเข้าใจและใส่ใจในความเป็นอยู่และสถานการณ์ที่ทีมกำลังเผชิญอยู่
เล่ามาถึงตรงนี้ ขอขายของสักนิด ตอนนี้ Magnetolabs กำลังมองหาเพื่อนร่วมทีมหลายตำแหน่ง หากคุณสนใจ และอยากได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://magnetolabs.com/th/career/
7. การปรากฏของนายจ้างที่ดีจะชัดเจนขึ้น
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของนายจ้าง และการปฏิบัติต่างๆ ขององค์กร บ้างก็พาทุกคนก้าวข้ามผ่าน และเติบโตด้วยดี แต่ในทางกลับกัน ก็มีบางส่วนที่ต้องทิ้งใครบางคนระหว่างทางหรือลดฐานเงินเดือนลง ซึ่งหลังโควิดจบ นายจ้างที่ดีจะปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้น และนี่อาจเป็นจุดตัดครั้งสำคัญของเหล่าลูกจ้างที่เลือกจะไปหรือพอแล้วกับองค์กรเลยก็ได้
8. การเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบการทำงานเป็น ‘การสร้างความยืดหยุ่น’
จากผลสำรวจในปี 2019 พบว่า องค์กรกว่า 55% มีการออกแบบโดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพเป็นหลัก แม้จะสวยหรู แต่ถ้าพูดกันตามตรงแล้ว เป็นอะไรที่เปราะบางมากกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนอยู่ตลอด
ดังนั้น รูปแบบการออกแบบการทำงานอย่าง ‘การสร้างความยืดหยุ่น’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจมากครับ เพราะไม่ว่าจะเจอกับวิกฤตไหนก็คงจะไม่ล้มเป็น domino อย่างแน่นอน แถมยังทำงานได้คล่องตัวกว่าด้วย
9. ความซับซ้อนของโครงสร้างภายในองค์กรที่มากขึ้น
วิกฤตครั้งนี้ส่งผลให้หลายๆ กิจการทั่วโลกมีการควบรวมกัน โดยที่เห็นได้ชัดฝั่งบ้านเราก็คือ Line Man กับ Wongnai โดยการควบรวมนี้ก็เข้าไปเพิ่มความซับซ้อนของโครงสร้างภายในองค์กรมากขึ้น ซึ่ง Gartner คาดการณ์ว่า ถ้าการระบาดจบลง การควบรวมเหล่านี้ก็ยังจะคงอยู่ และมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
สรุป
และทั้งหมดนี้คือสรุป 9 เทรนด์การทำงานแห่งอนาคตหลังโควิดจบจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ผมนำมาฝากคุณ ไว้ครั้งหน้าถ้าเจออะไรดีๆ แบบนี้อีก สัญญาว่าจะพาคุณไปสำรวจอนาคตด้วยกันอีกอย่างแน่นอน!
แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ 🙂
ถ้าคุณสนใจหาคนสาย Digital หรือหางานสาย Digital ลองเข้ามาใช้งาน Content Shifu jobs ได้เพื่อหาคนที่ใช่/งานที่ใช่ก่อนใครได้นะครับ