ช่วงอายุประมาณ 20 กลางๆ หลังจากเรียนจบปริญญาโทที่สก๊อตแลนด์ ผมได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำและไม่คิดว่าในชีวิตนี้จะได้ทำนั่นก็คือการแบ็คแพ็คจากสก๊อตแลนด์กลับกรุงเทพ กว่า 2 เดือนที่โลดแล่นอยู่บนถนนหนทางที่ไม่คุ้นเคย เจอคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นตา และทำในสิ่งที่ไม่คุ้นชิน
ถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาเนิ่นนานแล้ว แต่ทริปนั้นก็เป็นทริปที่ผมคิดถึงอยู่ตลอด หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่ผมได้เรียนรู้จากทริปนั้นถือเป็นอาจารย์ชีวิตชั้นดีที่ผมคงหาจากที่ไหนไม่ได้และมันหล่อหลอมให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้
สาเหตุที่ผมตัดสินใจเรียบเรียงและเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็เป็นเพราะมีน้องในออฟฟิศที่เคยไปเรียนที่อังกฤษมานั่งระลึกถึงความหลังกับผม ซึ่งนั่นก็เหมือนเป็นตัวกระตุ้นต่อมความคิดให้ผมนึกย้อนกลับไปวันเวลาเก่าๆ เหล่านั้น
บทความ “ข้อคิดทางธุรกิจที่ผมเรียนรู้หลังจากที่เดินทางมาครึ่งค่อนโลก” ของผมบทความนี้ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อยในการทำธุรกิจและเป็นสิ่งที่ผมเข้าใจและเชื่อมาตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อคิดบางอย่างที่ผมเรียนรู้ใหม่และมันก็เปลี่ยนความคิดของผมไปโดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าคุณจะอ่านบทความนี้เพื่อเอาแรงบันดาลใจหรือว่าอ่านเพื่อเรียนรู้ข้อคิดทางธุรกิจ ผมรับรองว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ครับ 🙂
6 ข้อคิดทางธุรกิจที่ผมเรียนรู้หลังจากเดินทางมาครึ่งค่อนโลก
1. No friend, no gain
เพื่อนร่วมทางสำคัญเสมอ
ผมไม่ได้ผจญภัยในต่างแดนด้วยตัวคนเดียวแต่มีเพื่อนสนิทที่นิสัยลุยๆ และไม่เรื่องมากไปด้วยอีก 2 คน ผมคิดว่าถ้ามีผมคนเดียว ทริปนี้คงไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นมันคงไม่เป็นทริปที่ยาวและน่าจดจำขนาดนี้แน่ๆ นอกจากนั้นแล้วในตอนวางแผน พวกเราทั้ง 3 คนก็ต่างแบ่งหน้าที่กันทำตามความสนใจและความถนัด เช่นคนหนึ่งดูเรื่องที่พัก อีกคนดูเรื่องรถไฟ/รถบัส และอีกคนดูเรื่องอาหารการกิน
การทำธุรกิจก็เหมือนกัน การที่มีพาร์ทเนอร์ (ที่มีความสนใจและความถนัดที่ต่างกัน) มาคอยช่วยเหลือ สนับสนุน และระวังหลังให้กันและกันจะทำให้ธุรกิจไปได้ไกลขึ้น
เพื่อนร่วมทางสำคัญเสมอ… โดยเฉพาะเพื่อนร่วมทางที่มีเป้าหมายเดียวกัน
2. Plan well or… get lost
มีแผนยังไงก็ดีกว่าไร้แผน
ก่อนออกเดินทางผมใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 3 เดือน กลางวันปั่นดิสเซอเตชั่น (โปรเจคต์จบ) กลางคืนก็แปลงร่างเป็นมนุษย์ค้างคาวมานั่งวางแผน เปิดไปเปิดมาอยู่หลายเว็บทั้ง Trip advisor เอย Lonely Planet เอย ซึ่งตลอดเส้นทางตั้งแต่สก็อตแลนด์จนถึงปักกิ่งนั้นถูกวางแผนไว้มาเป็นอย่างดี (ไม่ว่าจะเป็นการจองรถไฟ การจองที่พัก วิธีการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าสู่โฮสเทล ตารางกิจกรรมในแต่ละวัน)
แต่หลังจากนั้นซึ่งเป็นเส้นทางตั้งแต่ ปักกิ่ง คุณหมิง ลาว จนกระทั่งเข้าไทย ผมหาข้อมูลไม่ได้เลย ซึ่งก็เลยทำให้ไม่มีการวางแผนและต้องไปตายเอาดาบหน้า
ตอนออกเดินทางจริง เส้นทางตั้งแต่สก๊อตแลนด์ไปจนถึงปักกิ่งนั้นพวกผมแทบไม่เจอปัญหาเลย
แต่พอจะออกจากปักกิ่งเข้ามาไทยเท่านั้นแหละ ปัญหาถาโถมเข้ามาอย่างไม่รู้จบ
การทำธุรกิจก็เช่นกัน ผมไม่เชื่อมั่นกับการไปตายเอาดาบหน้าโดยไม่มีแผนการ เพราะฉะนั้นก่อนทำอะไร การวางแผนและคิดให้รอบเป็นสิ่งที่สำคัญ (Spreadsheet คือเพื่อนที่แสนดี)
แน่นอนว่าถึงแม้ว่าเราจะวางแผนมาดีแค่ไหน ปัญหามันก็ยังคงต้องมีอยู่ดี แต่ผมเชื่อว่าการวางแผนที่ดีจะทำให้ปัญหานั้นน้อยลงอย่างแน่นอน
“วางแผนให้ดี ใช้เวลาไปกับการค้นพบที่ไม่ได้คาดไว้ ไม่ใช่ปัญหาที่ไม่คาดฝัน”
3. Holy Monopoly!
ว่าด้วยเรื่องของการผูกขาด
บนรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียนที่ผมใช้ชีวิตอยู่ประมาณ 4 วันครึ่ง (จากมอสโกว์ไปอูลานบาตอร์) จะมีอยู่โบกี้นึงซึ่งเป็นโบกี้ของภัตตาคารที่หรูที่สุดบนรถไฟ (เพราะทั้งขบวนมีอยู่ร้านเดียว) ซึ่งภัตตาคารระดับ 5 ดาวนี้ถูกบริหารโดยชายแก่ชาวรัสเซียคนนึงซึ่งผมตั้งชื่อว่า “ไอ้ลุง”
สาเหตุที่ต้องตั้งชื่อว่า “ไอ้ลุง” ก็เพราะว่าการตั้งราคาที่มหาโหด
ในเมนูมีอยู่สิบกว่าอย่าง แต่ไอ้ลุงแกเล่นขายอยู่แค่อย่างเดียวคือข้าวสเต๊กไก่ (ข้าวแฉะๆ พร้อมไก่หนึ่งชิ้น กับผักอีกนิดหน่อย) ราคาจานละ 1,000 รูเบิ้ล ซึ่งในตอนนั้นถ้าคิดเป็นเงินบาทก็ตกอยู่ที่ 1,000 บาท!
ราคานี้สามารถซื้อกระเพราไก่ไข่ดาวได้ประมาณ 20 จาน ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่กินแต่สุดท้ายก็โดนไป 3-4 มื้อ เพราะทนกินมาม่าเกาหลีที่ซื้อติดไปด้วยแค่อย่างเดียวไม่ไหว
บางคนอาจจะคิดว่าเป็นเพราะเรื่องค่าครองชีพที่รัสเซียต่างกับไทย แต่ผมบอกได้เลยครับว่าราคาอาหารในเมืองใหญ่ๆ ของรัสเซียนั้นไม่ต่างกับกรุงเทพเลย
สำหรับข้อนี้ สิ่งที่เรียนรู้ในเชิงธุรกิจของผมคือเรื่องของ “ทางเลือก”
“ไอ้ลุง” ทำให้ผมไม่มีทางเลือกอื่นโดยสิ้นเชิงเพราะมีเขาเป็นทางเลือกเดียว ซึ่งในชีวิตจริงการเป็นตัวเลือกเดียวอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่การทำให้คนไม่เลือกทางอื่นเพราะเราเป็นทางเลือกดีกว่าทางเลือกอื่นมากๆ (เช่น ถูกกว่ามาก ดีกว่ามาก เร็วกว่ามาก สะดวกกว่ามาก) นั้นพอจะเป็นไปได้อยู่ เช่นการที่คุณมีเว็บไซต์ที่ดีกว่าคู่แข่งมากๆ (จนคน Search เจอแต่คุณบน Google), การที่คุณมี Portfolio โพสต์เก็บไว้บน Facebook มากกว่าคู่แข่งมากๆ (คนเทียบแล้ว เทียบอีก คุณก็น่าสนใจกว่า) หรือการที่คุณมีสินค้าที่ Niche กว่าคนอื่นมากๆ เช่นการขายเสื้อผ้าไซส์ XXXL สำหรับคนตัวใหญ่
การผูกขาดในเชิง “นโยบาย” อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่การทำให้คุณเหมือนผูกขาดในเชิง “กลยุทธ์” นั้นมีความเป็นไปได้
4. Money can solve problems
บางครั้งการใช้เงินแก้ปัญหาก็เป็นวิธีที่ดี
ผมเคยคิดว่าเวลาไปแบ็คแพคการซื้อทัวร์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเป็นอะไรที่สิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุ เรื่องอะไรจะเสียเงินมากกว่าที่ควรจะเสียตั้งเท่าตัว ศึกษาข้อมูลให้เยอะหน่อยแล้วเที่ยวเอง เอาเงินที่เหลือไปเสียค่าของกินหรือของที่อยากได้ดีกว่า
แต่ประสบการณ์ในทะเลทรายโกบีในประเทศมองโกเลีย ทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไป
ตอนนั้นผมและเพื่อนตัดสินใจซื้อทัวร์เพราะคำว่าทะเลทรายโกบีมันเป็นคำที่ฟังดูกว้างใหญ่มากๆ และเมื่อไปอยู่กลางทะเลทรายจริงๆ ก็ทำให้รู้ว่าพวกผมคิดไม่ผิด
ตอนนั้นหิมะตกหนักมากจนมองไม่เห็นอะไรเลย เข็มทิศก็ใช้ไม่ได้ จนทำให้คนขับรถทัวร์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับทะเลทรายมาทั้งชีวิตหลงทาง กว่าจะคลำทางกันเจอใช้เวลาอยู่หลายชั่วโมง ถ้าพวกผมเช่ารถขับเข้ามาเองคงจะได้เป็นอาหารอันโอชะของหมาป่าในทะเลทรายเป็นแน่แท้
สำหรับข้อคิดในเชิงธุรกิจในข้อนี้คือ “เงินมีไว้เพื่อจ่ายออก” ถ้าราคาสมเหตุสมผลและช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ง่ายขึ้น หรือช่วยให้ทำสิ่งที่เราทำไม่ได้ให้เป็นไปได้ บางครั้งการยอมจ่ายออกไปก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ
5. Blue ocean Strategy
กลยุทธ์การตลาดทะเลสีฟ้า
เมื่อก่อนผมเคยใฝ่ฝันมาตลอดว่าจะได้ไปเที่ยวเมืองใหญ่ๆ ในแถบยุโรปตะวันตกอย่างปารีส โรม และมิวนิค แต่พอได้ไปยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกมาทั้ง 2 โซนแล้ว ผมรู้สึกว่าประเทศในยุโรปตะวันตกนั้นพลุกพล่านไปด้วยร้านค้าและผู้คนมากจนเกินไป บางเมืองอย่างเช่นเวนิซนั้นทุกอย่าง (ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขายของฝาก หรือผู้คน) เหมือนถูกออกแบบมาเพื่อรองรับแต่นักท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น
กลับกัน เมืองในแถบยุโรปตะวันออกที่ผมไปมาอย่างเช่นวอร์ซอร์ (โปแลนด์) วิลเนียส (ลิธัวเนีย) และทาลลิน (เอสโทเนีย) ที่ดูไม่ค่อยโด่งดังนั้นกลับมีสเน่ห์และความน่าสนใจกว่ามาก สาเหตุก็เป็นเพราะเมืองเหล่านั้นยังคงรักษาเอกลักษณ์หลายๆ อย่างไว้ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเมืองเหล่านี้ยังไม่ได้เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ข้อคิดทางธุรกิจที่เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือเรื่องของ Blue Ocean Strategy หรือการเลือกตลาดที่ยังไม่แดงเดือด เลือกทำในสิ่งที่คนไม่ค่อยทำ การแข่งขันยังไม่ได้สูง
แล้วการค้นหา Blue Ocean นั้นสามารถทำได้ยังไง? ในความเห็นของผมคือต้องกล้าที่จะคิดต่าง กล้าที่จะลองผิดลองถูก รวมไปถึงการเรียนรู้จากคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนครับ
6. Get old and grow up
เมื่อ 3 ปีที่แล้วผมเคยเขียนบทความนี้ไปแล้ว ซึ่งชื่อหัวข้อมันคือ “7 สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเดินทางมาครึ่งค่อนโลก”
พอผมหยิบสิ่งที่ผมเขียนขึ้นมาอ่านอีกครั้งเพื่อที่จะรีไรท์มาเป็นบทความนี้ ผมสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้ มุมมองความคิดต่างๆ นั้นค่อนข้างที่จะต่างกันมาก
ดาวน์โหลดบทความที่ตัวผมเองเมื่อ 3 ปีทีแล้วเป็นคนเขียนได้ที่นี่
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผมดีใจที่ผมได้ลองทำอะไรมาหลายอย่าง แม้สิ่งที่ทำมาจะมีสมหวังบ้าง มีผิดหวังบ้าง แต่โดยรวมผมพอใจกับประสบการณ์ที่มากขึ้นตามอายุของผม
เพราะฉะนั้นข้อคิดทางธุรกิจข้อสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้คือ “Growing old is mandatory but growing up is optional” คุณเลือกไม่ได้ที่จะแก่ขึ้นรึเปล่า แต่คุณเลือกได้ว่าคุณจะโตขึ้นรึเปล่า
มาลงมือทำในสิ่งที่จะทำให้ตัวคุณในอนาคตไม่เสียดายกันนะ!
ผมเคยเขียนบันทึกการเดินทางของทริปนี้ไว้ มี 200 กว่าหน้า โหลด pdf ไฟล์นี้ไปอ่านแล้วเดินทางไปพร้อมๆ กับผมได้นะครับ 🙂