การเรียนมหาวิทยาลัยยังจำเป็นต่อการทำงานอยู่รึเปล่า?

Featured Image talent management is having university degree still important update

ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่ปริญญาตรีและปริญญาโท

แต่ก่อนตอนเรียน ผมไม่ได้สนใจหรือมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า “ทำไมผมถึงต้องเรียนมหาวิทยาลัย?” มากนัก

แต่พอเรียนจบแล้ว ได้มาทำงาน ทำธุรกิจของตัวเองอย่างจริงจัง ผมก็อดไม่ได้ที่จะถามตัวเองว่า “ทำไมผมถึงต้องเรียนมหาวิทยาลัย?” สาเหตุก็เป็นเพราะงานของผมในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับ Digital Marketing การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหรือทักษะในการบริหารจัดการนั้นได้ใช้สิ่งที่เรียนมาแค่ไม่ถึง 5%

ซึ่งด้วยความสงสัยและอยากรู้ว่าคนอื่นจะคิดยังไง ผมก็เลยลองทักไปถามคนเจ๋งๆ ที่ผมรู้จักเกือบ 10 คน และข้างล่างนี้คือความเห็นของพวกเขานะครับ 🙂

คนที่ผมทักไปถามเป็นคนที่ผมให้ความชื่นชมและชื่นชอบในมุมมองของพวกเขา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเชื่อทุกความเห็นของที่พวกเขาเขียนนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับบริบท อ่านจบแล้ว ผมแนะนำให้เอากลับไปคิดต่อนะครับ

การเรียนมหาวิทยาลัยกับการทำงานในมุมมองของ…

คุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม, CEO ของ rgb72

“คิดว่าจำเป็น…

ผมไม่ได้มองว่าสิ่งที่สำคัญของการเรียนมหาวิทยาลัยคือการศึกษา แต่ผมมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงทองของการปรับความคิด เลือกเส้นทางชีวิต และ Networking พบเพื่อนใหม่

ส่วนตัวคิดว่ามหาวิทยาลัยถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่เรามีพร้อมทั้งกำลังสมอง และกำลังกาย พร้อมจะลุยและ explore โลก การอยู่ในมหาวิทยาลัยทำให้เราได้ explore โลกแบบมีกรอบเล็กน้อย มีเพื่อนและอาจารย์เป็นไกด์ไลน์

ผมเองไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยในไทย จึงพอจะสัมผัสได้ว่า การที่คนอื่นมีรุ่นพี่ที่รู้จัก มีเพื่อน ทำให้มี connection ซึ่ง connection ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ

ไม่เชื่อลองทบทวนดูว่า มีกี่ครั้งที่เราทำงานได้ง่ายขึ้นเพียงแค่โทรศัพท์หาเพื่อน หรือรุ่นพี่

ถ้าไม่นับว่าใบปริญญาคือหนึ่งในใบเบิกทางสร้างโอกาสเข้าทำงานในบริษัท ที่ยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน ผมก็ยังเชื่อว่ามากกว่า 50% ที่ไม่ใช่วิชาการ คือสิ่งที่เราได้จากการเรียนมหาวิทยาล้ย”

คุณลิงค์ จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา, CEO ของ Exzy

“พี่คิดว่าไม่มีคำตอบที่ตายตัวนะสำหรับคนอื่น ดังนั้นความเห็นของพี่จึงขอเป็นการ นั่ง Time Machine ไปแนะนำตัวพี่เองคนที่อายุ 17 ปีครับ

พี่จะแนะนำว่าขอให้ตั้งใจเรียนเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดและศึกษาด้าน Soft Skill ให้เยอะมากๆ และใช้พื้นที่และ Resource มหาลัยให้คุ้มค่า (ไม่เน้นเกรด แต่เน้นการทำสิ่งที่ยาก และได้เรียนรู้)

สร้างตัวตนและความโดดเด่นขึ้นมาให้ได้จาก Resource และชื่อเสียงหรือต้นทุนของมหาวิทยาลัย จากนั้นไม่ว่าอะไรก็ตามที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น ความรู้ใหม่ หรือ ศาสตร์ใหม่ต่างๆ ในอนาคต จะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ได้ทำเอาไว้นี้อย่างเต็มที

ประมาณนี้นะ พี่คิดว่า มหาลัยคือสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วย Resource ที่ดี และถูกครับผม”

คุณแท๊บ รวิศ หาญอุตสาหะ, CEO ของศรีจันทร์

“ก่อนจะตอบคำถามนี้ต้องบอกว่ามันมีบริบทเยอะมาก และคงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่เดียว เพราะคำว่า”จำเป็น” สำหรับแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไป สำหรับบางคนคงจะเป็นจำเป็นมาก บางคนอาจจะไม่จำเป็นเลย

ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวแบบนี้ละกันครับ

ผมเชื่อว่า”การเรียน” ในระดับมหาวิทยาลัยยังคงจำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่ครับ แต่ว่าผมเชื่อว่าในเร็วๆ นี้รูปแบบจะเปลี่ยนไปเยอะ

ถ้าให้เขียนแบบสรุปคือ การเรียนมหาวิทยาลัยยังคงจำเป็นอยู่ แต่ต้อง personalize กับความคาดหวัง ความฝัน ความถนัด จุดแข็งจุดอ่อน และอนาคตของผู้เรียนมากๆ

ระยะเวลาอาจจะไม่ใช่ 4 ปี อาจจะไม่ใช่ 140 หน่วยกิต อาจจะไม่ได้มีคณะแยกแบบทุกวันนี้

การเรียนการสอนน่าจะถูกออกแบบทั้งจาก ความต้องการของผู้เรียน, ความต้องการของตลาด และความต้องการของผู้สอน สามอย่างนี้เอามารวมกันจะเกิดการเรียน แบบ personalize สำหรับคนเรียนมากๆ และนี่น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายของการ “เรียน” ที่แท้จริงครับ”

คุณเม่น จักรกฤษณ์​ ตาฬวัฒน์, CEO ของ Seed Themes

“มุมมองของผมในฐานะเจ้าของกิจการ ทำงานด้านดิจิตอล และไม่ได้ใช้เส้นสายในการทำงาน

คนที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตชัดเจนแล้ว และจุดหมายนั้นไม่ต้องการใบปริญญารับรอง – การเรียนในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จำเป็นมากนัก และอาจเสียเวลากว่าการลงมือทำงานจริง

แต่หากยังไม่ชัดเจน ไม่มั่นใจ การเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่นๆ ก็ทำให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น มีมุมมองเหมือนหมู่คณะมากขึ้น และอาจมีเส้นสายในการทำงานง่ายขึ้น

เพิ่มเติมจากประสบการณ์การรับสมัครงานของผม

  • คนที่จบมหาวิทยาลัยดังๆ โดยเฉลี่ยมักมีฐานะทางบ้านที่ดี และมีโอกาสทางการศึกษาที่ดี ทำให้มักจะเรียนรู้งานได้เร็วกว่า แต่แน่นอนว่า ก็ย่อมมีความคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่า และมักมีความอดทนต่ำกว่า
  • คนที่จบมหาวิทยาลัยที่ไม่ดัง ก็เลยมักจะกลับกัน แต่กระนั้น ก็จะมีบางส่วนที่มุ่งมั่นและแสวงหาโอกาสในชีวิต คนเหล่านี้จะน่าสนใจมาก เพราะพร้อมลุย อดทน และเห็นคุณค่าของโอกาสมากกว่า
  • ส่วนคนที่ไม่จบมหาวิทยาลัย ก็จะสุดโต่งขึ้นไปอีก คือ เกเรไปเลย หรือมีความมุ่งมั่นสุดๆ ไปเลย ถ้าเจอคนกลุ่มนี้ที่มีความมุ่งมั่น ก็มักจะน่าสนใจมาก

ที่มีมุมมองแบบนี้ เพราะในสายงานด้านดิจิตอล / ธุรกิจ / บริหาร นั้น ความรู้ต่างๆ มาจากการลงมือทำมากกว่าการเรียนผ่านตำรา และความรู้ที่ทันสมัยและพร้อมใช้จริงๆ นั้น กลับอยู่ในอินเทอร์เน็ต / เวิร์คช็อปในงานสัมมนา มากกว่าในสถาบันการศึกษา

ถ้ามีความมุ่งมั่น ใฝ่รู้ ไม่กลัวภาษาอังกฤษ เราจะสามารถเข้าถึงความรู้ได้มากกว่าการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมาก

ส่วนการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและแสวงหาความรู้, การวางรากฐานของคุณธรรม / จรรยาบรรณต่างๆ ที่เคยเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันหลายแห่งกลับปล่อยปละละเลย จนการเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นหลักประกันของสิ่งเหล่านี้อีกแล้ว

มหาวิทยาลัยและใบปริญญาอาจไม่จำเป็นต่อการทำงานเหมือนเมื่อก่อน แต่ความรู้ (Knowledge) / ทักษะ (Skill) / ใบรับรอง (Certificate) / ผลงาน (Portfolio) และจรรยาบรรณ (Ethic) นั้นจำเป็นแน่นอน

แนวโน้มที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ เราจะมีทางเลือกในการหาความรู้ ทักษะ และได้ใบรับรองที่ยืดหยุ่นขึ้น อาจเป็นคอร์สเรียนสั้นๆ ได้ใบรับรองเฉพาะเรื่อง แล้วก็ไปทำงานจริง หลังจากนั้นเรียนเพิ่ม และสะสมผลงานเพิ่ม

ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเอง และพัฒนาองค์กรต่อไปครับ”

คุณเอ็ม ธีรยา ธีรนาคนาท, CEO & Co-founder ของ CareerVisa Digital

“สมัยนี้ความรู้ไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป คอร์สออนไลน์ก็เยอะแยะ แถมอัปเดตกว่าหลักสูตรจำนวนมากในมหาวิทยาลัยอีกด้วย หลายบริษัท ก็ไม่สนปริญญาแล้ว กลายเป็นว่าการเรียนมหาวิทยาลัยดูเหมือนจะเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่มหาวิทยาลัยให้เราแค่นั้นหรือ? แค่ความรู้?

สำหรับเอ็มมหาวิทยาลัยให้วินัย บ่มเพาะนิสัยของเรา บางวิชาไม่รู้จะเรียนไปทำไม แต่กลายเป็นสอนวิธีคิด วิธีหาคำตอบ หรืออย่างน้อยก็ความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ชอบ ความท้าทายต่อสิ่งที่ไม่ถนัด เป็นการฝึกต่อสู้กับอุปสรรคในพื้นที่ที่ปลอดภัย เหมือนเป็นห้องทดลอง หรือ Sandbox ในภาษา startup ถ้าคุณไม่กล้า fail แม้แต่ในห้องทดลอง คุณจะกล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ ที่อาจ fail ในชีวิตจริงหรือ?

มหาวิทยาลัยให้สังคม ให้เพื่อนแท้ อาจจะไม่มาก แต่หลายๆ คนก็เป็นเพื่อนกันตลอดชีวิต เอ็มเองก็ได้มีอาชีพที่ใช่ เพราะเพื่อนมหาวิทยาลัยอย่างพิน ผู้ร่วมก่อตั้ง CareerVisa เพื่อนคนอื่นๆ ก็ยังช่วยเหลือกัน ตอนนั้นยังเด็ก ไม่ได้อยู่ในโลกของธุรกิจ มันง่ายที่จะเป็นเพื่อนกันโดยไม่คิดถึงผลประโยชน์

สำหรับเอ็ม มหาวิทยาลัยยังมีประโยชน์มากๆ แต่ไม่ได้เป็นทุกอย่าง การเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องหาความรู้นอกห้อง และที่สำคัญกว่านั้นคือทำกิจกรรม ฝึกงาน ด้วย เพราะจะได้ทำอะไรใหม่ๆ รู้จักผู้คนใหม่ๆ ได้มุมมองที่แตกต่าง เพื่อหาความชอบ ความถนัดของตัวเอง จะได้ไม่หลงทาง และได้ทำอาชีพที่ใช่ ที่ทำให้มีพลังในการทำงานในทุกๆ วัน ตั้งแต่อายุยังน้อย”

คุณป้อม ภาวุธ พงศ์วิทยานุ, CEO & Co-founder ของ Tarad.com

“ปัจจุบันเรื่องการเข้าทำงาน วุฒิจำเป็นรึเปล่า?

คำตอบคือไม่จำเป็นเลย เพราะว่าเขาเรียกว่ารูปแบบการเรียนเปลี่ยนไปจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือตอนนี้ลูกเราอายุ 9 ขวบ เขาสามารถ Format คอมพิวเตอร์ ทำ Virtual Machine ทำหลายๆ อย่างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้ โดยที่ไม่มีใครสอนเขาเลย เขาเรียนผ่าน YouTube 100%

เพราะฉะนั้นการเรียนรู้แบบเก่า การเรียนรู้แบบโรงเรียน/มหาวิทยาลัยนั้นแทบไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นตอนนี้ที่ Tarad.com เราไม่เคยดูวุฒิของคนเลย เราดูความถนัด เราดู Skill เราดูประสบการณ์เขามากกว่า เพราะฉะนั้นการเรียนรู้มันไม่ได้อยู่เพียงแค่ในห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว เราแค่เข้าไปใน Platform การเรียนรู้ เราก็จะสามารถเก่งเรื่องนั้นได้ และพอเราติดปัญหาอะไรเมื่อก่อนเราต้องถามครู แต่ตอนนี้เรามี Community บนโลกออนไลน์สามารถทำให้เราเข้าใจ แก้ปัญหา และเดินต่อไปข้างหน้า จากคนธรรมดาสามารถกลายเป็นคนที่รู้ได้ไม่ยากเลยทีเดียว”

คุณไว ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา, CEO & Co-founder ของ Priceza

“ในฐานะเจ้าของบริษัท ในการคัดเลือกคนปัจจุบันนี้ของพี่ มหาวิทยาลัยที่จบมา ยังมีส่วนในการตัดสินใจ แต่เป็นแค่หนึ่งในปัจจัยที่ดู และ “ไม่ใช่” ปัจจัยหลัก ที่ใช้ในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานด้วย

เหตุผลที่ยังจำเป็นคือมหาวิทยาลัย รวมทั้งคณะที่จบมา เป็นตัวช่วยที่ใช้ในการประเมินคนมาในระดับนึง เช่น เด็กที่จบวิศวฯ กับเด็กที่จบอักษรศาสตร์ ต่างควรมีทักษะที่แตกต่างกันตามความรู้ที่ทั้งสองคณะสอนมา หรือถึงแม้วิศวฯเองก็ตาม มหาวิทยาลัยแตกต่างกัน ก็แบ่งแยกคนได้เหมือนกัน มหาวิทยาลัยที่เข้ายาก ย่อมบอกบางอย่างว่าคนคนนั้นมีของบางอย่างที่ทำให้เข้าไปเรียนจบมาได้ โดยรวม ยังใช้มหาวิทยาลัย ในการคัดคนคร่าวๆ

เหตุผลที่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก หรือบางทีถึงขั้นไม่สนใจมันด้วยซ้ำคือในการทำงาน อย่างที่ว่า สิ่งที่เรียนมา บางที และในหลายๆ ครั้ง ไม่ได้นำมาใช้ในการทำงานด้วยซ้ำ โจทย์ใหญ่ๆที่พี่ใช้คือวัดในแง่ของ ทัศนคติต่อการทำงาน รวมทั้งความกระหายอยากที่จะทำงานกับเรา เป็นหลักใหญ่ที่สำคัญที่สุด จนหลายๆครั้ง เด็กที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย แต่มีทัศนคติที่ดี และมีความกระหายอยากทำงานกับเรา รวมทั้งมีศักยภาพที่จะมาเรียนรู้กับเรา กลับชนะเด็กที่จบมหาวิทยาลัยดีๆ ด้วยซ้ำ

โดยรวม มหาวิทยาลัย ยังจำเป็นสำหรับพี่ในการคัดคน แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่ต้องมีเสมอไปครับ”

คุณปอง จักรพงษ์ คงมาลัย, Managing Director & Partner ของ Moonshot และ RAiNMAKER

สำหรับบ้านเราผมคิดว่า “การใช้ชีวิต” ในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งจำเป็นนะครับ 

คำว่าใช้ชีวิตมันมีหลายอย่างนะ อย่างเช่น การที่เราได้ใช้เวลากับเพื่อน ได้เรียนรู้ความหมายของมิตรภาพ ได้เรียนรู้วิชาอะไรใหม่ๆ ได้เปิดโลกไปเจออะไรที่เราไม่เคยเจอ ถึงจะเป็นแนวทฤษฎีค่อนข้างเยอะก็เถอะ 

สรุปง่ายๆ สำหรับผม ผมว่าการช่วงเวลาที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยมันเป็นโอกาสที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราจะได้เรียนรู้อะไรจากคนรอบตัวมากๆ มันเป็นโอกาสที่ดี แต่ถ้าว่ากันในส่วนการจ้างงานถามว่าผมซีเรียสไหมว่าคนไม่มีปริญญาจะรับเข้าทำงานไหม ผมไม่ได้ซีเรียสครับ แต่คุณต้องเก่ง ต้องมีประสบการณ์ทำอะไรมาได้สักอย่าง 

อย่างเช่น ผมมีน้องคนนึงที่ออฟฟิศชื่อเติ้ล เติ้ลเป็นคนเขียน Blog เกี่ยวกับอวกาศชื่อ SPACETH.CO ผมลองไปอ่าน Blog เขาแล้วมันสุดยอดมาก จนผมต้องดึงมาทำงานที่ RAiNMAKER ด้วยกันทั้งที่เติ้ลเพิ่งเรียนจบ ม. 6  

จากเรื่องนี้จะเห็นได้เลยว่าจริงๆ ผมไม่ได้ซีเรียสเรื่องปริญญาบัตร แต่ผมซีเรียสเรื่องที่ว่าคุณไม่ควรเสียโอกาสในการใช้ชีวิตกับคนรอบตัว ช่วงมหาวิทยาลัยมากกว่า

คุณ จุฑาศรี คูวินิชกุล, CEO ของ Metta Group

ถ้าถามว่าการเรียนมหาวิทยาลัยจำเป็นต่อการทำงานหรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็น เหมือนกับทุกอย่างที่มี many ways of getting to the same goal เสมอ ไม่มีอะไรตายตัว แต่การเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นวิธีแก้ไก่กับไข่วิธีหนึ่งในการเข้าถึง career goal บางอย่างเช่นกัน

ส่วนตัวแล้วหากให้ย้อนเวลากลับไป ก็คงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเช่นเดิม อย่างการสร้าง Grab หรือ Fintech ตัวใหม่ที่กำลังเตรียมความพร้อมอยู่ อาจจะไม่ได้ทำเลยถ้าไม่ได้เจอ Co-founder ที่ Harvard หรือการที่ Restructure ธุรกิจทั้งหมดของที่บ้านการกระจายเข้า Industry หรือประเทศต่างๆ รวมถึงการ Raise Fund และลงทุนทั่วโลกอาจไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้หากไม่ได้มุมมองจากตอนที่เรียนที่ Harvard ซึ่งความรู้ต่างๆ อาจจะไม่ได้มาจากห้องเรียนทั้งหมด แต่ได้จากหลายๆอย่างที่เป็น access จากการเรียนที่นั่น เช่นการทำงานที่ Tech Fund ที่เยอรมันช่วงนั้น หรือการศึกษาจาก Global Companies ต่างๆ ที่เข้าถึงได้และได้พบบุคคลชื่อดังต่างๆ ซึ่งในกรณีนี้การเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนเป็นวิธีลัดในการเรียนรู้และสะสม resources ต่างๆ ที่เกื้อหนุนการทำงานได้อย่างก้าวกระโดดวิธีหนึ่ง

แบงค์ สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์, Partner ของ Magnetolabs & Content Shifu (ใช่แล้วครับ ผมเอง 🙂

“หลังจากที่ได้พยายามนั่งคิดดู คำตอบของผมเป็นแบบนี้ครับ

ผมคิดว่าการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้นเหมาะสำหรับคนที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าอยากทำงานแบบไหน ซึ่งผมคิดว่าคนแบบนี้ก็น่าจะเยอะ (ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นตอนที่เข้ามหาวิทยาลัย)

การได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย จะทำให้คุณสามารถเรียนรู้และมีเวลาในการพยายามทำความเข้าใจตัวเองเพิ่มอีกหลายปี อีกอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญคือคุณจะได้เรียนรู้การเข้าสังคมและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนรุ่นๆ เดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว ผมคิดว่า “การเรียนมหาวิทยาลัย” นั้นถือว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงในชีวิตอย่างหนึ่ง คืออย่างน้อย เมื่อคุณเรียนจบแล้ว ประตูแห่งโอกาสมันน่าจะมีมากกว่าการที่คุณเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยครับ

ทั้งนี้ มีคนรู้จักของผมอยู่บ้างเหมือนกันที่รู้จักและค้นพบตัวเองตั้งแต่ตอนยังวัยรุ่นและตัดสินใจที่จะไม่เรียนมหาวิทยาลัยและเริ่มทำงานเลย

ผมเคยถามน้องที่ผมรู้จักคนหนึ่งว่าทำไมถึงไม่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งคำตอบของเขาคือว่า “สายงานของผม (Programmer) การเรียนจบมหาวิทยาลัยไม่มีความจำเป็น การลงมือทำจริงสำคัญกว่า” ซึ่งการที่เขาเริ่มทำงานมาก่อนทำให้เขาไปได้ไกลกว่าคนในรุ่นๆ เดียวกัน (แน่นอนว่าคนแบบน้องคนก็นี้อาจจะไม่ได้มีมาก)

ผมเองก็เคยนึกย้อนกลับไปในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ Internet Marketing กำลังเฟื่องฟู แล้วก็บ่นกับตัวเองว่า “ทำไมไม่รู้ใจตัวเองให้เร็วกว่านี้วะ?” และ “ถ้าตอนนั้นเราเริ่มเร็วกว่านี้ ตอนนี้เราจะไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้แค่ไหนนะ?”

แต่ก็นั่นแหละครับ เวลาวารีไม่เคยไหลย้อนกลับ คำว่า “ถ้า….” เป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่การจะย้อนเวลาเพื่อไปเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรคงเป็นไปไม่ได้

ถ้าจะให้ผมต้องให้คำแนะนำ…. ผมคงต้องบอกว่าผมให้คำแนะนำไม่ได้เพราะบริบทของเราต่างกัน แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน ขอให้เต็มที่กับมัน ทำวันนี้และวันต่อๆ ไปให้ดี เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เสียใจกับทางที่เลือกในภายหลัง

สุดท้ายสิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้คือไม่ว่าคุณคิดว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นหรือไม่จำเป็น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นแน่ๆ คือการศึกษา ถ้าอยากก้าวหน้าจะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาครับ”

สรุป

ในความเห็นของคุณ คุณคิดว่าการเรียนมหาวิทยาลัยจำเป็นต่อการทำงานรึเปล่า? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top