วันก่อนผมไปเรียนหลักสูตร IDE to IPO 7 มา และได้ฟัง Session ของดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยมาครับ
ดร. ฉายภาพอนาคตใน 2 ทศวรรษข้างหน้าให้เห็นโดยใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง เพื่อให้เรารู้ไว้ ระวังไว้ เตรียมตัวไว้ หรือบางเรื่องทำอะไรไม่ได้ ก็ให้ทำใจไว้ล่วงหน้า
4 Mega Trend แห่งอนาคตจะเป็นอะไร ผมจะทยอยเล่าให้อ่านครับ
4 Mega Trend ระดับ Global & ระดับประเทศไทยที่ต้องรู้
1. สิ่งแวดล้อม (Environment)
- เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับทุกคน
- 4 ยมทูตแห่งยุคโลกร้อนได้แก่ น้ำท่วมใหญ่ ไฟป่าแรง แห้งแล้งจัด วิบัติคลื่นร้อน
- โลกเราร้อนขึ้นทุกวัน ปีที่ผ่านมาๆ ประเทศไทยเจออากาศที่ร้อนจัดอยู่หลายวัน ระหว่างปี 2000-2019 อากาศวิปริต 146 ครั้ง สูญเสีย 7.7 พันล้านดอลลาร์ ในอินเดียเองมีคนตายไปหลายหมื่น และเมื่อเทียบกับช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม 2 ร้อยกว่าปีก่อน ปัจจุบันอุณหภูมิสูงกว่ายุคนั้น 1.3 องศาเซลเซียส และในอีก 4-5 ปี จะสูงขึ้นกว่าอีก 1.5 องศาเซลเซียสในบางปี (อ่านแล้วเหมือนจะไม่เยอะ แต่จริงๆ โคตรเยอะ เพราะสิ่งนี้มันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่นๆ แบบ Non-linear เช่นขั้วโลกเหนือไร้น้ำแข็งช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มจาก 1 ใน 100 ปี เป็น 1 ใน 10 ปี)
- อีกไม่ถึง 30 ปี กทมและบริเวณใกล้เคียง (โดยเฉพาะจังหวัดที่ชื่อเริ่มต้นด้วยสมุทร) หลายๆ ส่วนจะอยู่ใต้น้ำ
- ประเทศที่อยู่ในที่สูงอย่างปากีสถานก็ไม่รอดจากเรื่องน้ำท่วม เพราะปีที่ผ่านมาน้ำท่วมปากี (เมือง 1 ใน 3 จมบาดาล) เพราะหิมะบนภูเขา Everest ละลายออกมามาก
- ในช่วง 10 ปีให้หลัง เกษตรกรไทยไม่ลดลงเลย ยังคงมีอยู่ 30% ของแรงงาน ถ้าต้องทำงานกลางแจ้ง หรือถ้าน้ำขาด เกษตรกรจะอยู่ยังไง?
- ธุรกิจที่จะเจอปัญหาจากคาร์บอน (เพราะปล่อย Carbon มาก) ผลิตและก่อสร้าง 31% ผลิตไฟฟ้า 27% เกษตร 17% เดินทาง 16% ปรับอุณหภูมิ 7% จะเจอปัญหาในอนาคต (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูง) เพราะหลายๆ ประเทศจะรณรงค์เรื่องนี้
- การจะแก้ปัญหาหรือชะลอเรื่องนี้ เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญ แต่ที่ขาดไม่ได้คือพฤติกรรมและนโยบายจากมนุษย์
2. การเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitics)
- ดร. เล่าเรื่องผ่านหนังเรื่อง Topgun Maverick ที่ภาค 1 กับภาค 2 ห่างกันถึง 36 ปี
- สิ่งที่เปลี่ยนไปจากอดีตจนถึงปัจจุบันมี 3 อย่างคือ 1. เทคโนโลยี (มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เจ๋งๆ เกิดขึ้นมากมาย) 2. ค่านิยม (มุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ) 3. ภูมิรัฐศาสตร์ (ภาคแรกรบกับรัสเซีย ภาคสองรบกับใครไม่รู้ แต่รู้ว่าเป็นเอเชีย เหตุการณ์เกิดในอินโดแปซิฟิก)
- ในเรื่องนโยบายกับต่างประเทศ สหรัฐเองมีอินโดแปซิฟิกเฟรมเวิร์ค ส่วนจีนเองก็มีเส้นทางสายไหมใหม่ และทั้ง 2 มหาอำนาจก็ชวนไทยเข้าร่วมทั้งคู่ (ดร. แนะนำว่าให้เข้าหมดเลย อย่าเป็นศัตรูกับใคร เศรษฐกิจไทย แค่ 1% ของโลก อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง)
- สหรัฐเน้นเรื่อง Tech & AI ยุโรปเน้นแฟชั่น ส่วนจีนจะพัฒนาตัวเองเป็นเจ้าอุตสาหกรรม
- จีนกำลังทะยานขึ้นมา ในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะมี GDP ใหญ่กว่าอเมริกา ผ่านนโนบาย Made in China (หุ่นยนต์ การบิน ไอที พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพมย์ เครื่องจักรเกษตร เดินทะเล วัสดุใหม่)
- นโยบายต่างประเทศของจีนคือเส้นทางสายไหมใหม่ จัดการความเสี่ยงเรื่องช่องแคบมะละกา คือสร้างจุดออกทะเลใหม่ และมีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับยุโรป (อยากดูให้ไปดูรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ลาว)
- ตามตำนานของเรื่องกับดักทิวซีดีดิส – เมื่อมีอำนาจใหม่มาท้าทาย สงครามใหญ่จะเกิดขึ้นและจะรบกันนานเสมอๆ เหมือนกับตอนที่เอเธนส์รุ่งเรื่องมาแข่งกับสปาร์ตา นอกจากนั้นแล้วสามารถย้อนกลับไปดูในช่วง 500 ปีย้อนหลังได้เช่นกันว่ามีสงครามใหญ่เกิดขึ้น 12 ครั้งจาก 16 ความขัดแย้งที่รุนแรง (สรุปง่ายๆ ตามภาษาผมคือคือยักษ์สู้กัน สะเทือนถึงมด 😂)
- Trailer ของเรื่อง Topgun Maverick ในตอนแรกนั้นธงของประเทศญี่ปุ่นกับไต้หวันหายไปจากเสื้อ (ทั้งๆ ที่ในภาค 1 มีธงของ 2 ประเทศนี้อยู่) เพราะจีนไม่ถูกกับสองประเทศนี้ และ Tencent เป็นผู้ร่วมทุน ต่อมา Tencent ถอนออกไปในปี 2019 ธงก็เลยกลับมาเหมือนเดิม
- ถ้าอยากทำธุรกิจกับใครต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาแคร์ อะไรที่ Sensitive กับเขา
- ถ้าอยากโต ต้องพยายามขยายออกจากประเทศไทยให้ได้ เพราะประเทศไทยเติบโตปีละ 3% เอง
- เรื่องนี้อาจจะดูไกลตัว แต่ใกล้กว่าที่คิด ดร. ยกตัวอย่างว่ามีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อยากเจรจาธุรกิจกับจีน จะคุย Teleconference เขาไม่ใช้ Zoom, Google Meet หรือ Microsoft Teams แต่เขา Prefer ระบบของจีน
- อีกตัวอย่าง คือตอนที่ กทม. ทำแคมเปญให้เยาวราชเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีการเขียนป้ายภาษาจีน คำถามคือจะเขียนแบบไหนดี? คนเยาวราชเป็นคนแต้จิ๋วที่อพยพจากจีนมานานแล้วซึ่งยังใช้ตัวหนังสือจีนแบบเก่า (แบบที่ไต้หวันใช้อยู่) ถ้าใช้แบบใหม่ คนพื้นที่อาจจะอ่านไม่เข้าใจ และถ้าใช้แบบเก่าก็อาจจะกระทบการท่องเที่ยวจากจีน
- สำหรับคนทำธุรกิจ สำคัญคือต้องทำยังไงให้ไม่เจอลูกหลง ต้องเข้าใจบริบทให้มากๆ
3. สังคมสูงวัย (Aging Society)
- โลกเรามีคนอายุเยอะอยู่มาก และที่สำคัญมันจะกลายเป็นสังคมอายุยืนด้วย
- ญี่ปุ่นเคยมีพิธีเฉลิมฉลองให้กับคนที่มีอายุ 100 ปีด้วยการแจกสาเก แต่ตอนนี้เลิกไปแล้ว เพราะคนอายุถึง 100 ปีมีมากเกินไป
- คนเกิดเมื่อปี 2010 หลายๆ ชาติ จะมีอายุเกิน 100 ปี หลายชาติ
- คนไทยที่เกิดปี 2016 จะอายุเฉลี่ย 80-98.3 ปี
- ในอนาคต คนก็จะมองอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขมากขึ้น คือตัวเองมองตัวเองว่าอายุเท่าไหร่ (อายุเยอะแต่ไม่แก่) อายุตามมาตรฐานสังคม (คนอายุ 40 แต่ถูกสื่อเรียกว่าลุง/ป้า) หรือมองอายุตามสภาพร่างกาย (คุณมีสุขภาพดีรึเปล่า)
- เศรษฐศาสตร์การเมืองของสังคมอายุยืนเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจ มันจะมีมีความขัดแย้งระหว่างช่วยวัยเพราะความต้องการไม่เหมือนกัน เช่นเด็กต้องการนโยบายเรื่องการศึกษา แต่ผู้ใหญ่ต้องการบำนาญ
- เทรนด์นี้ก็นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจหลากหลายอย่างเช่นกัน เช่นลิฟท์ที่ขึ้นลงแค่ 2 ชั้น อาหารเสริม ระบบ Automation ต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย
4. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificially Intelligence หรือ AI)
- ดร. เล่าเรื่องนี้ผ่านหนังเรื่อง Her ที่ชายวัยกลางคน อาชีพนักเขียน หย่ากับภรรยา เหงามา เลยไปซื้อโปรแกรม Chatbot ที่ชื่อว่า Samantha มา สุดท้ายทั้งคู่ตกหลุมรักกัน แต่ดันมารู้ทีหลังว่า Chatbot คบซ้อนอีกเป็นร้อยๆ คน เพราะถูก Train มาดีเลยเก่งเรื่องเกี้ยวพาราสีมากๆ
- 3 ประสานขับเคลื่อน AI ได้แก่ Hardware, Algorithm and Data ใครอยู่ในธุรกิจที่ทำ 3 เรื่องนี้จะไปได้ไกล
- AI ยุคที่ 1 เป็นยุคที่ Deep Blue ชนะหมากรุก และ Alpha Go ชนะหมากล้อม
- AI ยุคที่ 2 เป็นยุคแห่ง Deep Learning เช่นเอารูปหมาให้ดูเยอะๆ แล้ว AI ทายได้ว่าเป็นหมา หรือญี่ปุ่นใช้ดูว่าปลาทูน่าในตลาดตัวไหนสดไม่สดก่อนประมูล แพทย์ใช้ AI ตรวจตาดูว่ามีโอกาสเป็นเบาหวานไหม ในยุคนี้ การจะดูว่า AI แม่นจริงไหม ต้องดูว่าข้อมูลที่ Feed เข้าไปถูกต้องรึเปล่า
- AI ยุคที่ 3 เป็นยุคที่ AI ตีความเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ ได้ ให้จินตนาการดูว่าตอน AI ทายผลทูน่ามีตัวแปร 1 ล้านตัว แต่ ChatGPT มี 1 ล้านล้านตัว ในยุคนี้มีสิ่งที่ชื่อว่า Genearative AI เกิดขึ้นมา คือมีความยืดหยุ่น และความเก่งผุดมาจากความซับซ้อน แต่ก็ยังมีโอกาสมั่วแบบมั่นใจอยู่
- เหนือกว่า AI คือไซบอร์ก (คน + AI)
- ในอนาคตจะมีคน 4 สายพันธุ์ คือ 1. สมาร์ทไซบอร์ก (คนเก่งที่ใช้ AI ช่วย) 2. สมาร์ทยูสเซอร์ (ไม่เก่ง แต่ใช้ AI ช่วย) 3. สมาร์ทฮิวแมน (เก่ง แต่ใช้ AI ไม่เป็น) 4. ฮิวแมน (ไม่เก่งและใช้ AI ไม่เป็น)
สรุป
ฟังเรื่องนี้จบผมก็ยังไม่สามารถสรุปได้อยู่ดีว่าเรื่องไหนควรรู้ไว้ ระวังไว้ เตรียมตัวไว้ หรือเป็นเรื่องทำอะไรไม่ได้ ให้ทำใจไว้ล่วงหน้า 😂
สาเหตุเป็นเพราะว่าเวลาที่เรามองภาพอะไรที่มันใหญ่มากๆ ผมคิดว่ามันไม่มีเรื่องไหนที่เป็นขาวกับดำ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ง่าย คือแก้ A ปัญหา B เกิด หรือเปลี่ยนเพื่อ C แล้วคนกลุ่ม D ไม่พอใจ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ผมเห็นภาพ และเข้าใจหลักการ & เหตุผลมากขึ้น
สเต๊ปถัดไปก็คงจะเป็นการเอา Wisdom ที่ดร. แชร์ไปนั่งคิดและตกผลึกต่อว่าอนาคตจะเอาไงต่อดี
4 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่โคตรเครียดแต่ดร. เล่าเรื่องสนุกมากๆ ขอบคุณดร. สมเกียรติและทาง IDE to IPO อีกครั้งที่จัด Session ที่ทรงคุณค่าอันนี้ขึ้นมาครับ 🙂