สิ่งที่เรียนรู้จากการเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์มา 4 ปี

Featured Image self development learnings from being an engineering student update
IE Chula Manu
ผมตอนช่วงปี 2-3 ในวิชา Eng Manufacturing (เท่าที่จำได้ชื่อประมาณนี้) / ผมทรงยาวๆ เกาหลีๆ กำลังเป็นเทรนด์ในช่วงนั้น ฮา

หลังจากที่ผมได้อ่านความเห็นของพี่ๆ เพื่อนๆ หลายท่านในบทความ “การเรียนมหาวิทยาลัยยังจำเป็นต่อการทำงานอยู่รึเปล่า?” ทำให้ผมลองคิดแล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองดูว่าผมได้อะไรจากการเรียนมหาวิทยาลัย (ผมเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการที่จุฬามาเมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้วครับ)

ถ้าพูดตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อม ผมคิดว่าศาสตร์ที่เป็นความรู้จริงๆ (เช่นพวกแคลคูลัส ลาปลาสผกผัน การอินทิเกรต 3 ชั้น หรือวิธีการออกแบบผังโรงงาน) ที่ได้มาจากการเรียนนั้น กว่า 80% นั้นไม่ได้ใช้และเลือนหายไปตามกาลเวลา

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้อะไรจากการเรียนมหาวิทยาลัยเลยนะครับ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ผมได้มามันไม่ใช่ความรู้ที่เป็น Hard Skill สักเท่าไหร่ สิ่งที่ผมได้มาคือ “แนวคิด” และ “หลักการ” ซึ่งผมคิดว่ามันมีประโยชน์มาก

ถ้าคุณกำลังเรียนวิศวะอยู่หรือกำลังจะตัดสินใจเรียน (หรือมีคนรู้จักกำลังจะเรียน) ผมคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ครับ

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาก็ผ่านล่วงเลยมาเกือบ 10 ปีแล้ว ผมอาจจะหลงๆ ลืมๆ ไปบ้าง แต่เหตุการณ์ที่สำคัญกับการเรียนรู้ ผมคิดว่าผมยังพอจะได้อยู่ครับ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ภาควิชาอุตสาหการ) เป็นระยะเวลา 4 ปี

1. การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล

“เพราะเกิดสิ่งนั้น สิ่งนี้ก็เลยเกิดขึ้นมา”

แทบจะทุกวิชาที่เรียนในคณะวิศวะนั้นต้องใช้ความเป็นเหตุเป็นผลเกือบทั้งนั้น

วิชาที่ผมรู้สึกว่าต้องใช้การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดคือวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมครับ เพราะการเขียนโปรแกรมออกมาให้ใช้งานได้จริงและใช้งานได้ดีนั้น คนเขียนจะต้องคิดให้ครอบทุก Scenario ที่สามารถเกิดขึ้นเพื่อทำให้มั่นใจว่าโปรแกรมจะคำนวณออกมาได้อย่างสมเหตุสมผลในทุกสถานการณ์

ถึงแม้จะเขียนโปรแกรมไม่เก่ง แต่ผมได้แนวคิดดีๆ มาเยอะเลยล่ะ

2. การหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

ข้อนี้เป็นอีกหนึ่งข้อที่สำคัญที่ผมได้เรียนรู้มาจากการเรียนวิศวกรรมอุตสาหการครับ

วิศวกรรมอุตสาหการเป็นภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโรงงานและการผลิตเพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราจะบ้ากันมากคือคำว่า “Optimization” หรือถอดความเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่าการหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

ตัวอย่างเช่นถ้าเราต้องการขนส่งสินค้าจาก A ไป B โดยที่มีพาหนะให้เลือก 3 อย่างได้แก่รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และรถบรรทุก ซึ่งพาหนะแต่ละแบบมีข้อจำกัดที่ต่างกัน สิ่งที่เราต้องทำคือการคำนวณหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดโดยเอาเป้าหมายเป็นที่ตั้ง

เท่าที่จำได้วิชาที่ต้องนั่งคำนวณอะไรแบบนี้คือวิชาที่เรียกว่า Operation Research ครับ

Operations research, or operational research in British usage, is a discipline that deals with the application of advanced analytical methods to help make better decisions.

3. เข้าใจเกี่ยวกับ Artificial Intelligence / Machine Learning

ปัจจุบันนี้คำว่า Artificial Intelligence / Machine Learning นั้นเป็นคำที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ผมพึ่งรู้จัก 2 คำนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ซึ่งในครั้งแรกที่ผมอ่านดู ผมก็เข้าใจในหลักการและเหตุผลแทบจะในทันทีเพราะมันเป็นสิ่งที่ผมเรียนและเคยทำโปรเจคต์มาก่อนแล้วในวิชา Engineering Statistics

Engineering statistics combines engineering and statistics using scientific methods for analyzing data.

จำได้เลยว่าตอนนั้นผมทำโปรเจคต์เกี่ยวกับโปรแกรมทำนายผลฟุตบอล ที่เอาข้อมูลจากเกม Football Manager (ไม่ว่าจะเป็นค่าพลังนักเตะ ค่าพลังโค้ช ความจุของสนาม และอื่นๆ อีกกว่า 10 ปัจจัย) มาใช้เพื่อคำนวณผลลัพธ์ของการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ในตอนนั้นข้อมูลที่ผมใช้มีแค่หลักหมื่นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมันคงไม่ใช่ Machine Learning จริงๆ และสมการที่ผมสร้างข้ึนมาก็คงไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Artificial Intelligence สักเท่าไหร่ แต่ในตอนนั้นมันทำให้ผมรู้จักกับ Regression (การเอาข้อมูลในอดีตมาทำนายผลลัพธ์ในปัจจุบันและอนาคต) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการสร้าง Artificial Intelligence ขึ้นมา

4. เริ่มรู้จักกับ Virtual Reality

ในคลาสเรียนที่ผมจำชื่อวิชาไม่ได้ ผมได้เรียนกับอาจารย์ที่ชื่อว่าอาจารย์ประมวล สุธีจารุวัฒน

จำได้ว่าตอนนั้นอาจารย์ได้พาผมและเพื่อนๆ เข้าไปในห้องที่ค่อนข้างมืด มีฉากกั้นอยู่รอบด้าน พร้อมกับอะไรที่คล้ายๆ แว่นตา 1 อัน เมื่อลองใส่ดู ผมก็เห็นฉากเสมือนจริงที่เป็นตึก ซึ่งตัวผมเองเป็นตัวละครในฉากนั้น และผมสามารถจะวิ่งไปข้างหน้าหรือจะบินขึ้นฟ้าก็ได้ (จำได้ว่าตอนนั้นลองบินขึ้นไปสูงๆ แล้วดิ่งลงมาด้วยความเร็ว ซึ่งมันทำให้ผมเสียวอยู่เหมือนกัน)

ใช่แล้วครับ ในตอนนั้นผมได้ลองสวมแว่นเล่น Virtual Reality ครั้งแรก

ผมจำได้ว่าในตอนนั้นอาจารย์บอกว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาประเทศไทยเร็วไปสัก 5-10 ปี และเทคโนโลยีที่คณะมีเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากข้อ 3 และข้อ 4 ผมขอสรุปรวมกันว่าการเรียนที่คณะวิศวะทำให้ผมได้ประสบพบเจอกับอนาคตก่อนใคร ศาสตร์แห่งวิศวกรรมคือศาสตร์แห่งการคิดและการสร้างและมันมักจะทำให้เราเจออะไรเร็วกว่าคนอื่น

5. รู้จักกับ 5 Cores of IE (Industrial Engineer)

ในวิชาท้ายๆ ของปี 4 ผมได้เรียนวิชานึง (จำชื่อวิชาไม่ได้อีกแล้ว ฮา) ที่สอนเกี่ยวกับเรื่อง 5 หัวใจหลักของวิศวกรรมอุตสาหการ (สอนโดยอาจารย์ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย)

5 หัวใจหลักนั้น ผมยังจำจนถึงวันนี้
1. Quality – คุณภาพของสินค้า
2. Speed – ระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตสินค้า
3. Cost – ต้นทุนของสินค้า
4. Flexibility – ความยืนหยุ่นของการผลิตสินค้า
5. Dependability – การส่งมอบสินค้า

5 สิ่งนี้คือหัวใจหลักที่ต้องพิจารณา แน่นอนว่าการทำให้ทั้ง 5 สิ่งนี้ดีที่สุดทั้งหมดเป็นไปไม่ได้จริง สิ่งที่ทำได้คือการดูว่าเป้าหมายคืออะไรและพยายาม Optimize หัวใจหลักของทั้ง 5 นี้ให้ดีที่สุด ซึ่งหลักการนี้ก็เป็นหนึ่งในหลักการที่ผมเอามาใช้จริงเวลาทำธุรกิจเช่นเดียวกัน

สรุป

และนี่ก็คือ 5 สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากการเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ภาควิชาอุตสาหการนะครับ

ถ้าคุณกำลังจะเรียนหรือกำลังเรียนอยู่ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพมากยิ่งขึ้น หรือถ้าคุณเรียนคณะอื่น ผมมั่นใจว่ามันก็มีสิ่งที่คุณเรียนรู้มาจากคณะที่คุณเรียนเหมือนกัน มาแชร์ให้ผมและผู้อ่านคนอื่นๆ ได้อ่านกันในคอมเมนต์ได้นะครับ 🙂

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top