รู้จักกับ MECE: หลักคิดที่ช่วยให้คิดมีเหตุผลขึ้น

Featured Image MECE

สัปดาห์ก่อนที่ Content Shifu มีการจัด Internal Sharing Session กัน โดยที่อาร์ม น้องในทีม ที่เป็นคนที่มีหลักการและหลักคิดดี ชอบเอาอะไรใหม่ๆ มาแชร์ให้เพื่อนๆ ในทีมอยู่เสมอๆ ได้แชร์หลักการที่น่าสนใจที่มีชื่อว่า MECE (อ่านว่า มี-ซี่) มา

ซึ่งผมคิดว่าหลักการน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่อ่านบล็อกของผม เลยอยากจะเอามาเขียนแชร์ครับ

ถ้าระลึกถึงคำนี้ไว้เสมอๆ ตอนคิดและเสนอไอเดีย โอกาสที่จะสิ่งที่คุณคิด สิ่งที่คุณเสนอ จะไม่สมเหตุสมผลหรือไม่สมบูรณ์จะต่ำลงครับ

MECE คืออะไร ตัวอย่างเอาไปใช้จะเป็นยังไงบ้าง เดี๋ยวผมจะค่อยๆ เล่าให้อ่านครับ

MECE คืออะไร?

MECE ย่อมาจาก Mutually Exclusive, Collectively Exhaustive ซึ่งถ้าอ่านแค่คำ 4 คำนี้ ผมรับรองว่างง เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตอธิบายง่ายๆ แบบนี้ครับ

MECE คือหลักการที่ให้คุณทบทวนถามตัวเองว่า

  1. ที่คุณคิดมา มีอะไรที่มันทับซ้อนกันไหม?
  2. ที่คุณคิดมายังมีอะไรที่ขาดไปไหม?

ถ้าสิ่งที่คุณคิดมาหลายๆ อย่างยังมีการทับซ้อนกันอยู่ แสดงว่าคุณอาจจะยังตกผลึกมาได้ไม่ดีพอ ลองพยายามยุบรวมหัวข้อหรือเนื้อหาที่คุณคิดเข้าด้วยกันดู

ถ้าสิ่งที่คุณคิดมายังขาดอะไรบางอย่างอยู่ แสดงว่าคุณอาจจะยังคิดไม่เยอะพอ ลองพยายามคิดถึงเหตุผล หรือหาประเด็นเพิ่มเติมที่จะทำให้สิ่งที่คิดมานั้นครอบคลุม

ตัวอย่างที่ไม่ MECE

ผมขอหยิบเอาตัวอย่างการทำคอนเทนต์มาแชร์แล้วกันนะครับ

ถ้าผมต้องการทำคอนเทนต์ในหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องของการตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจ

แบบที่ 1: ถ้าลิสต์ในบทความนี้ของผมมี…

  1. คิดมาให้เยอะๆ ก่อน
  2. ใส่คำที่น่าดึงดูดลงไป
  3. เล่นกับความกลัวของคน
  4. ตอบคำถามคนอ่าน

ลิสต์นี้ก็อาจจะยังไม่ MECE เพราะมันน่าจะยังขาดวิธีการตั้งชื่อหัวข้อที่น่าสนใจไป เท่าที่ผมนึกออกคือ การเล่นกับตัวเลขซึ่งเป็นเทคนิคสำคัญที่ช่วยทำให้คนอยากคลิกเข้าไปดูบทความต่อได้ดี

แบบที่ 2: ถ้าลิสต์ในบทความนี้ของผมมี…

  1. คิดมาให้เยอะๆ ก่อน
  2. ใช้ตัวเลขในการตั้งชื่อ
  3. ใช้เลขคี่ดีกว่าเลขคู่
  4. ใส่คำที่น่าดึงดูดลงไป
  5. เล่นกับความกลัวของคน
  6. ตอบคำถามคนอ่าน

ลิสต์นี้ก็อาจจะยังไม่ MECE อีกเช่นกัน เพราะข้อ 2 กับข้อ 3 เรื่องเกี่ยวกับตัวเลข มันทับซ้อนกัน และรวมกันเป็นข้อเดียวได้

สรุป

หลังจากที่คุณคิดไอเดียอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ลองใช้หลักการ MECE ในการถามตัวเองดูนะครับว่าสิ่งที่คุณคิดขึ้นมามัน MECE รึเปล่า ถ้ามันยังไม่ MECE จะได้ลองกลับไปคิดอีกครั้งให้ชัดเจนและครอบคลุมครับ

Happy MECEing นะครับ! 🙂

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top