“เป็นเจ้าของบริษัท” คำคำนี้พอฟังดูแล้วดูเท่ ดูเป็นเจ้าคนนายคนดีใช่ไหมครับ?
จริงๆ มันก็เท่แหละ แต่มีสุภาษิตจากหนังอันนึงที่ผมอยากจะเอามาแชร์ให้คุณได้อ่าน “With great power comes great responsibility (พลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง)” – ลุงเบ็นจากเรื่อง Spiderman
หลังจากที่ผมได้เปิดมา 3-4 บริษัท ผมก็ได้เข้าใจประโยคนี้มากยิ่งขึ้น
ในบทความนี้ ผมจะมาเขียนสิ่งที่คุณจะได้เจอหลังจากที่คุณเปิดบริษัทนะครับเพื่อที่ว่าคุณจะเตรียมตัวเตรียมใจได้ดีขึ้นนะครับ
ถ้าพร้อมแล้ว ไปดู 7 เรื่องควรรู้ก่อนเริ่มเปิดบริษัทได้เลยครับ 🙂
อยากเปิดบริษัท? อ่านเรื่องควรรู้ 7 ข้อนี้ก่อน!
1. คุณจะมีงานเอกสารมากขึ้น
หนังสือรับรองบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ เอกสารวัตถุประสงค์ของบริษัท ใบภพ. 20 (ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจำเป็นต้องมีในกรณีที่บริษัทคุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี)
เอกสารต่างๆ เหล่านี้ เป็นเอกสารเบื้องต้นที่คุณจะต้องใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ กับลูกค้า คู่ค้า และธนาคาร
นอกเหนือจากเอกสารเหล่านี้แล้วยังมีเอกสารเรื่องการเงินต่างๆ เช่นพวกใบเสนอราคา ใบวางบิล ใบหัก ณ ที่จ่าย ที่คุณจะต้องทำความเข้าใจกับมันด้วย
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่คุณต้องรู้เพราะคุณจะได้เจอมันบ่อยๆ แน่ๆ ครับ
2. คุณจะต้องมีความรู้เรื่องของบัญชี/การเงิน
จากข้อที่แล้วที่ผมเขียนถึงเรื่องเอกสารทางการเงินต่างๆ นั้น พวกเอกสารเหล่านี้เป็นแค่ส่วนประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง
ถ้าจะทำธุรกิจ คุณจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงินมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำไร ขาดทุน ภาษี พวกงบดุลต่างๆ
ผมเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยเรียนเรื่องเหล่านี้มา แต่ตอนเรียนไม่ค่อยเข้าหัวเท่าไหร่ แต่พอมาทำบริษัทจริงๆ แล้ว ผมต้องบังคับตัวเองให้ศึกษาหาความรู้เรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นมากๆ เลยครับ
การบริหารจัดการบัญชี/การเงิน ก็เหมือนกับการบริหารจัดการเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเราครับ ถ้าเลือดของคุณร่อยหรอหรือเลือดไหลเวียนในร่างกายไม่คล่อง สุดท้ายมันจะส่งผลกระทบกับสุขภาพของคุณครับ
3. คุณต้องมีหุ้นส่วน
ตามกฏหมาย (ณ ตอนที่ผมเขียนบทความตอนนี้คือเดือนพฤษภาคม 2564) การเปิดบริษัทจะต้องมีผู้เริ่มก่อการทั้งหมด 3 คน เพราะฉะนั้นถ้าตอนนี้คุณมีแค่ตัวเองคนเดียว คุณก็ต้องเริ่มหาหุ้นส่วน ซึ่งวิธีการหาหุ้นส่วนที่ผมใช้ในตอนที่ผมเปิดบริษัทแรกของผมก็คือเอาชื่อพ่อและเอาชื่อน้องมาเป็นหุ้นส่วนด้วย (โดยใส่หุ้นไปให้ทั้ง 2 คนนิดๆ หน่อยๆ)
นอกจากนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าตามกฏหมาย ทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำนั้นคือ 15 บาท แต่ในชีวิตจริงผมไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้เลยเพราะมันส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัท (ทุนจดทะเบียนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท)
คือจดด้วยทุนจดทะเบียนเท่านี้ ไม่ต้องจดทะเบียนบริษัท แต่ใช้บุคคลรับงานยังจะดูน่าเชื่อถือกว่า
โดยมากแล้ว ที่ผมเห็นคนทำกันก็คือจะมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท (ซึ่งถ้าทุนจดทะเบียนเท่านี้ คุณสามารถทยอยชำระค่าทุนจดทะเบียนได้ โดยที่ขั้นต่ำอยู่ที่ 25% หรือ 250,000 บาท
โดยสรุปคือการเปิดบริษัทนั้น นอกจากคุณจะต้องมีหุ้นส่วนแล้ว คุณยังต้องมีเงินด้วย
4. คุณต้องพร้อมให้เวลา
การเปิดบริษัทก็เหมือนกับการมีลูกเพิ่มอีก 1 คนที่คุณต้องดูแล เทคแคร์และเอาใจใส่ และต้อง Commit กับมัน
ถ้าคุณใช้เวลากับบริษัทของคุณในช่วงแรกๆ น้อย โอกาสที่มันจะเติบโตก็จะน้อยตามไปด้วย
Note: ทั้งนี้ ผมก็เห็นคนหลายๆ คนเปิดบริษัท (พร้อมจดภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขึ้นมาเพื่อรับงานที่ไม่เกี่ยวกับงานหลัก ซึ่งเหตุผลหลักๆ ของการเปิดบริษัทก็คือต้องการที่จะสามารถรับงานจากบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ได้ เพราะจะเพิ่มโอกาสได้งาน (เพราะน่าเชื่อถือกว่าแบบคนธรรมดา) และบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่เหล่านั้นก็ต้องการที่จะได้ภาษีซื้อไปบริหารจัดการภาษีต่อด้วย ถ้าจุดประสงค์ของคุณเป็นแบบนี้ คุณก็อาจจะไม่ต้องใช้เวลากับมันเยอะมาก
5. คุณต้องมีแผนธุรกิจที่ดี
การเปิดบริษัทโดยที่ไม่มีแผนการที่ดีน้ันมันก็เหมือนกับการที่คุณเดินฝ่าทะเลทรายโดยที่คาดหวังว่าจะเจอโอเอซิสระหว่างทาง
อย่างน้อยๆ คุณควรจะต้องรู้และเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเปิดบริษัทของคุณ
และถ้าคุณอยากที่จะจริงจังกับมัน การมีแผนธุรกิจที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งผมแนะนำว่า เบื้องต้น ให้คุณลองเขียนแผนธุรกิจง่ายๆ ขึ้นมาโดยใช้ Business Model Canvas ก่อน (ถ้าคุณอยากศึกษาเกี่ยวกับ Business Model Canvas เพิ่มเติม คุณสามารถเข้าไปอ่านบทความ เขียนแผนธุรกิจภายใน 20 นาทีด้วย “Business Model Canvas” ของผมได้ครับ)
แน่นอนว่าตอนลงมือสร้างบริษัทจริงๆ มันก็คงจะไม่เหมือนใน Business Plan อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยมีแผนก็ดีกว่าไม่มีและไปตายเอาดาบหน้าครับ
เจ๊งในกระดาษดีกว่าไปเจ๊งในชีวิตจริงครับ
6. คุณจะมีเจ้านายเพิ่มขึ้นอีกหลายชีวิต
การเปิดบริษัท การเป็นเจ้าของ คือการเป็นนายของตัวเอง
เอาจริงๆ มันก็จริงครับ แต่มันถือเป็นคำพูดที่ไม่จบ เพราะเมื่อคุณเปิดบริษัทและมีธุรกิจของตัวเอง นอกเหนือจากคุณที่เป็นนายของตัวเองแล้ว คุณยังจะมีเจ้านายเพิ่มขึ้นอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า หุ้นส่วน ลูกน้อง หรือนักลงทุน
ยิ่งบริษัทคุณใหญ่ขึ้นมากเท่าไหร่ คุณจะมีเจ้านายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และคุณจะต้องบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ให้ดี
คำแนะนำของผมในเรื่องนี้คืออย่าพยายามทำให้ทุกคนพึงพอใจ แต่ทำในสิ่งที่ควรทำ ดังที่ Steve Jobs บอกไว้ว่า “If you want to make everyone happy, don't be a leader – Sell ice cream (ถ้าคุณอยากที่จะทำให้ทุกคนแฮ๊ปปี้ อย่ามาเป็นผู้นำเลย ไปขายไอศครีมดีกว่า)”
Note: ขอเขียนดักไว้ก่อน เดี๋ยวมีคนมาแย้ง ฮา ถ้าคุณขายไอศครีมเป็นรูปบริษัท ที่มีทั้งลูกค้า หุ้นส่วน ลูกน้อง สุดท้ายคุณก็จะไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้อยู่ดีนะครับ
7. คุณต้องยอมแพ้
ใช่แล้วครับ คุณอ่านไม่ผิด คุณต้องยอมแพ้… ที่จะไม่พ่ายแพ้
ในระหว่างที่คุณก่อร่างสร้างบริษัท คุณจะทำผิดพลาด ผิดหวัง พ่ายแพ้ มากมายหลายหนจนนับไม่ถ้วนอย่างแน่นอนครับ
เพราะฉะนั้นผมอยากให้คุณเตรียมใจเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ
เตรียมใจยอมแพ้ที่จะไม่พ่ายแพ้ เพื่อที่จะได้เรียนรู้จากความพ่ายแพ้และลุกขึ้นมาได้อย่างมีความหวังในทุกๆ ครั้งครับ 🙂
ความพ่ายแพ้เป็นสิ่งที่แน่นอน แต่การยอมแพ้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณครับ
Note: จริงๆ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผมเขียนไว้ในบทความ 30 สิ่งที่ผมเรียนรู้มาก่อนอายุ 30 ปี เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วครับ ลองไปอ่านข้ออื่นๆ ดูได้นะครับ
สรุป
และนี่คือ 7 สิ่งที่คุณต้องเตรียมตัวไว้ถ้าคุณอยากที่จะเปิดบริษัทนะครับ
ถ้าคุณอ่านแล้ว ยังรู้สึกว่าโอเคกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สิ่งที่คุณจะได้รับคือโลกที่เปิดกว้าง และโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ที่ตอบโจทย์ให้กับผู้คน
Welcome to the Entrepreneurial World ครับ 🙂