5 ขั้นตอนการหางานให้ได้งานสำหรับนักศึกษาจบใหม่

Featured Image talent management how to get a job update

หลายๆ ครั้งที่ผมรับสมัครคนเข้าทำงาน ผมเห็นผู้สมัครงานหลายๆ คนโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่เรียนดี กิจกรรมเด่น ไม่รู้จักวิธีการ “ทำการตลาดและการขาย” ตัวเอง เมื่อทำการตลาดไม่เป็น HR หรือบริษัทก็จะไม่แล หรือถ้าทำการตลาดให้ตัวเองเป็น ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ หลายๆ คนมักจะขายตัวเองไม่เป็น ตกม้าตายในตอนนั้น

สาเหตุที่ผมเขียนบทความ “5 ขั้นตอนการหางานให้ได้งานสำหรับนักศึกษาจบใหม่” นี้ขึ้นมานั้นเป็นเพราะช่วงนี้ผมเจอนักศึกษาจบใหม่ที่ทำการตลาดและการขายตัวเองไม่เป็นบ่อยเหลือเกิน

บทความนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานให้กับคุณแม้ว่าคุณจะยังไม่ได้มีความรู้ความสามารถสำหรับงานนั้นๆ (แต่อย่างน้อยต้องมีความอยากทำ) เพราะผมเชื่อว่าสำหรับนักศึกษาที่จบใหม่แล้ว เรื่อง Hard Skill อาจจะยังไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้นหลักๆ แล้ว HR หรือบริษัทจะดู Soft Skill มากกว่า

ถ้าคุณอ่านบทความนี้จบ ผมรับรองว่าคุณจะสามารถเพิ่มโอกาสในการถูกเรียกสัมภาษณ์และโอกาสในการได้งานอย่างน้อยๆ เท่าตัวแน่นอนครับ

พร้อมแล้ว มาเรียนรู้วิธีการหางานให้ได้งานกันนะครับ 🙂

ป.ล. แนวคิด วิธีการ และตัวอย่าง ในบทความนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกเคสต์ เพราะฉะนั้นพอคุณอ่านจบแล้วคุณต้องเอามันไปตกผลึกและประยุกต์ใช้ต่อนะครับ

ป.ป.ล. บทความนี้ถูกเขียนขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง (ตาม Common Sense) เพราะฉะนั้นถ้าคุณจบอักษรแล้วอยากทำงานสายวิศวะที่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพ หรือจบวิศวะแล้วอยากเป็นหมอผ่าตัด แนวคิด วิธีการ และตัวอย่าง คงช่วยอะไรไม่ได้นะครับ

5 ขั้นตอนการหางานให้ได้งาน (สำหรับนักศึกษาจบใหม่)

จริงๆ แล้วการหางานก็เหมือนกับการที่คุณทำการตลาดและขายของนั่นแหละครับ ถ้าคุณเข้าใจหลัก ทำการตลาดได้และขายเป็น คุณก็จะหางานได้ เพราะฉะนั้นขั้นตอนทุกอย่างในบทความนี้ ผมจะเขียนผูกเรื่องการหางานเข้ากับการตลาดและการขายนะครับ

1. เตรียมคอนเทนต์สำหรับการทำการตลาด: เขียน Resume/CV ให้ดี

Resume/CV ถือเป็นสิ่งแรกๆ ที่ HR หรือบริษัทจะเห็นจากคุณ ถ้าคุณเขียน Resume/CV ได้ไม่ดี โอกาสที่คุณจะถูกเรียกสัมภาษณ์ก็จะยิ่งน้อยลงไปด้วย

ผมมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมเรียนรู้มาจากการนั่งอ่าน Resume/CV มาแชร์เพื่อทำให้คุณทำ Resume/CV ของคุณให้ดีขึ้นครับ

ความแตกต่างระหว่าง Resume และ CV คือ 1. โดยปกติแล้ว Resume จะไม่เกิน 1 หน้า ในขณะที่ CV จะเกินหนึ่งหน้าได้ 2. Resume บอกถึงความสามารถและประสบการณ์ของคุณแบบคร่าวๆ ในขณะที่ใน CV คุณสามารถสาธยายความสามารถ ประสบการณ์ และความรู้ของคุณได้ 3. Resume ปรับเปลี่ยนได้ตามงานที่สมัคร ส่วน CV จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง (เพราะเป็นการลิสต์ทุกอย่างที่สำคัญที่คุณเคยทำมา) สำหรับนักศึกษาจบใหม่ ผมคิดว่าใช้แค่ Resume ก็พอ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง Resume และ CV ได้ที่นี่

1. เปิดตัวต้องทำให้น่าสนใจ

บ่อยครั้งที่ผมเจอคนเขียน Statement ที่ใช้สรุปรวมความสนใจ ความชอบ และความต้องการของตัวเองแบบทั่วๆ ไป เช่น I am looking for a meaningful job that will fulfil myself as a professional

อ่านแล้วรู้สึกเป็นยังไงบ้างครับ?

สำหรับผม ผมรู้สึกว่าคนคนนี้ไม่มีความน่าสนใจอะไรเลย ถ้าสมมุติลองปรับสักนิดให้เป็น I am a creative professional that is seeking for a digital planner position จะดูน่าสนใจมากขึ้นเยอะเพราะว่า 1. คุณอธิบายถึงคุณลักษณะของตัวเอง 2. คุณอธิบายถึงงานที่อยากทำ

2. ค่าพลัง… อย่าใส่

การใส่ค่าพลังพวก Teamwork, Leadership, Communication หรืออื่นๆ ลงไปใน Pie Chart หรือ Bar Chart นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

ถ้าคุณสงสัยว่าทำไม ผมอยากให้คุณลองคิดตามดูนะครับว่าการที่คนคนนึงมีค่าพลัง Teamwork 90% หรือค่า Leadership 5 เต็ม 5 นั้น เขาเอาเกณฑ์การวัดมาจากไหน? เขารู้ได้ยังไงว่าความสามารถ (ที่เป็น Soft Skill) นั้นวัดออกมายังไง?

เห็นไหมล่ะครับว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผล

เพราะฉะนั้น ในความเห็นของผม แทนที่จะบอกว่าคุณเก่งอะไร (โดยเฉพาะในด้าน Soft Skill) วิธีการนำเสนอความสามารถที่ดีกว่าคือการบอกว่าคุณเคยทำอะไรสำเร็จมาบ้าง (เช่นเคยประกวดการแข่งขันแผนการตลาดได้ที่ 1 หรือถ้าจะให้ดีใส่ลิงก์ผลงานที่คุณเคยทำลงไปด้วยเลย)

ารใส่คะแนนสอบภาษาอังกฤษเช่น TOEFL/IELTS หรือผลการสอบวัดระดับอื่นๆ ที่มีมาตรฐาน สามารถใส่ลงไปใน Resume สามารถทำได้ (และถ้าคุณทำคะแนนได้ดี มันก็เป็นหนึ่งในวิธีการแสดงความสามารถของคุณ)

3. อธิบายตัวเองให้เหมาะกับตำแหน่ง

“กุนซือมักจะไม่แข็งแรงเท่าแม่ทัพ เช่นกัน แม่ทัพก็ไม่ลึกซึ้งเท่ากุนซือ”

คุณไม่ควรบอกว่าทำอะไรได้หลายสิ่งหลายอย่างเพราะแต่ละตำแหน่งอาศัยความรู้ความสามารถที่ต่างกัน เช่นถ้าคุณสมัครงานเกี่ยวกับการวางแผน คุณก็ควรที่จะพูดถึงความสามารถในการวางแผนของคุณ แต่ถ้าคุณสมัครงานเรื่องขาย คุณก็ควรที่จะเน้นชูทักษะด้านการสื่อสารของคุณ

ผมเห็นเด็กจบใหม่หลายคนมากๆ ที่ชูความสามารถของตัวเองได้ไม่เหมาะกับงาน เช่นคนที่บอกว่าชอบวางแผนแต่ดันเน้นบอกว่าตัวเองพูดเก่งเป็นพิธีกรนู่นนี่นั่น อีกอย่างที่พบเจอบ่อยคือการชูโรงตัวเองมีความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดีมากๆ (โดยการใส่คะแนน 5 เต็ม 5 ใน Chart สวยๆ) ซึ่งเอาจริงๆ “ทักษะความเป็นผู้นำ” เป็นสิ่งที่ทางบริษัทไม่ได้โฟกัสกับผู้สมัครงานในตำแหน่ง Junior (โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยผ่านการทำงานจริงมาก่อน) เพราะการที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ คุณควรที่จะเรียนรู้การเป็นผู้ตามที่ดีก่อน

ทุกอย่างมีข้อยกเว้นนะครับ บางงาน บางตำแหน่ง ต่อให้เป็นระดับ Junior ความเป็นผู้นำอาจจะเป็นสิ่งสำคัญก็ได้

4. การออกแบบ Resume/CV เป็นสิ่งที่สำคัญ

การออกแบบ Resume คือการออกแบบ User Experience ความหมายก็คือคุณสามารถออกแบบได้ว่าต้องการให้ HR หรือบริษัทนั้นเปิดอ่าน Resume ของคุณอย่างไร ทำการบริโภคคอนเทนต์ของคุณอย่างไร และรู้สึกกับคุณในขั้นต้นอย่างไร

คุณสามารถหา Best Practice (เช่นการทำไฟล์ Resume ให้เป็น pdf ก่อนส่ง การเอาประสบการณ์ล่าสุดขึ้นมาก่อนประสบการณ์ในอดีต หรือการเอาประสบการณ์มาก่อนการศึกษา) ได้เพียงแค่ลองค้นหาผ่าน Google

นอกจากเรื่องแนวคิดของการเขียน Resume ที่คุณจะหาได้จากเว็บไซต์ต่างๆ บน Google แล้ว คุณสามารถใช้โปรแกรมอย่าง Canva ที่มี Template ของ Resume ให้มากมายอยู่แล้วมาใช้สร้าง Resume ของคุณก็ได้

2. ทำการตลาดให้ตัวเอง: ไปอยู่ในที่ที่คนจ้างอยู่

เมื่อมีคอนเทนต์ที่ดีแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณทำการตลาดให้กับตัวเอง

สิ่งที่คุณต้องคิดในขั้นนี้ก่อนที่จะเริ่มทำการตลาดก็คือลูกค้าของคุณ (HR หรือบริษัท) นั้นชอบจะไปอยู่ที่ไหนและชอบรับสารจากช่องทางไหน

จากประสบการณ์ของผม (ทั้งในฐานะคนที่เคยสมัครงานตอนจบใหม่ๆ และปัจจุบันนี้เป็นเจ้าของบริษัทที่รับสมัครงาน) ผมคิดว่าที่ที่คุณควรจะไปพบปะกับ HR หรือบริษัทนั้นมีอยู่ประมาณ 6 ที่ครับ

1. สมัครงานตรงกับบริษัท

หลายๆ บริษัทมีการประกาศรับสมัครงานบนช่องทางของตัวเองอย่างเช่นเว็บไซต์หรือบนโซเชียลมีเดีย

คุณสามารถเข้าไปดูช่องทางของบริษัทที่คุณอยากทำงานด้วยแล้วก็มองหา Section ที่เขียน Career, Jobs หรือ We are hiring เพื่อดูรายละเอียดได้

ข้อดีของวิธีนี้คือคุณจะรู้ได้เลยว่าบริษัทต้องการให้คุณสมัครงานกับพวกเขาด้วยวิธีไหน (ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการถูกเชิญสัมภาษณ์ให้กับคุณได้) แต่ข้อด้อยคืออาจจะทำให้คุณใช้เวลาเขียนและปรับใบสมัครให้เหมาะกับงานนั้นๆ ค่อนข้างมากเพราะบริษัทแต่ละบริษัทก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน

บริษัทของผมก็กำลังตามหาเพื่อนร่วมงานอยู่หลายคน เข้าไปดูในเว็บไซต์ได้นะครับ 🙂

2. สมัครงานในมหาวิทยาลัย

หลายๆ บริษัทจะมีการไปออกบูธตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งนั่นอาจจะหมายรวมถึงมหาวิทยาลัยของคุณด้วย เพราะฉะนั้นคอยติดตามข่าวหรือประกาศเกี่ยวกับการออกบูธรับสมัครงานต่างๆ ให้ดี เพราะนั่นเป็นหนึ่งในวิธีการสมัครงานที่ Resume ของคุณจะถูกส่งไปให้กับ HR ได้เร็วที่สุด

3. Jobboard

Jobboard ถือเป็นช่องทางการโปรโมตตัวเองที่ง่ายที่สุดช่องทางนึง เพียงแค่คุณเข้าใจสร้างโปรไฟล์ไว้ใน Platform นั้นๆ

jobsdb home page

Platform ที่บริษัทผมใช้เป็นประจำอย่าง Jobsdb มีฟีเจอร์ที่ให้บริษัทสามารถเห็น Qualification ของผู้สมัครงานแบบคร่าวๆ และสามารถส่ง Invitation ให้เข้ามาสมัครงานได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเขียนโปรโมตตัวเองได้ดี โอกาสที่จะมีคน Invite มาก็จะมีมากขึ้นไปด้วย

นอกจาก Jobsdb แล้ว Jobboard Platform อื่นๆ ก็ยังมีอีกหลายอันเช่น Jobthai Jobtopgun Workventure และ Jobbkk เป็นต้น

จากประสบการณ์ของผมในฐานะผู้รับสมัครงาน ผมชอบ Jobsdb ที่สุดเพราะจากสถิติแล้ว Candidate ที่ได้มานั้นผ่านเกณฑ์มากกว่า Candidate จาก Platform อื่น

4. Referral

Referral หรือการให้คนรู้จักแนะนำช่วยบอกต่อจะทำให้คุณมีโอกาสได้งานมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ น้อง หรือญาติๆ การพูดคุยกับคนในวงของคุณ จะทำให้คุณเข้าถึงโอกาสในการได้งานมากยิ่งขึ้น

คำว่า Referral ในที่นี้อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็น “คน” เสมอไป แต่สามารถเป็น “ค่าย” “งานอีเวนต์” หรือ “กิจกรรม” ต่างๆ ที่คุณเคยทำหรือเคยไปก็ได้ เช่นถ้าในสายดิจิทัลจะมีค่าที่ชื่อว่า YWC (Young Webmaster Camp) อยู่ ซึ่งถ้าคุณได้ไปเข้าค่ายนี้ คุณจะได้พบเจอคนที่สามารถ Refer คุณให้กับบริษัทต่างๆ (หรือบริษัทของพวกเขาเอง) ได้หลายคนเลยล่ะ

คำแนะนำของผมคือถ้าคุณพอจะรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัยแล้วว่าชอบอะไร สนใจอะไร ลองหาค่าย งานอีเวนต์ หรือกิจกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัยทำเพิ่มเติมดู เพราะนั่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้คุณได้มากอย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลยล่ะ

5. Headhunter หรือ Recruitment Agency

หลักการทำงานของ Headhunter หรือ Recruitment Agency คือคุณไปฝากโปรไฟล์ไว้กับพวกเขา และพวกเขาจะไปหางานจากบริษัทที่น่าจะเหมาะกับคุณสักหลายบริษัทมาแล้วให้คุณไปสัมภาษณ์ โดยที่คุณจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรให้กับ Headhunter หรือ Recruitment Agency นั้นๆ เลย พวกเขาจะได้ค่าคอมมิชชั่นเป็นรูปแบบของ % เงินเดือนทั้งปีของคุณ (โดยปกติที่ผมเห็นก็คือประมาณ 15-22%) ในกรณีที่คุณผ่านการทดลองงาน

ข้อดีของวิธีนี้คือ Headhunter หรือ Recruitment Agency จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อที่จะทำให้คุณได้งานโดยเร็วที่สุดและค่าตอบแทนเยอะที่สุด

ป.ล. เอาตรงๆ สำหรับตัวของผมเอง การหาคนจาก Headhunter หรือ Recruitment Agency เป็นวิธีที่ผมพยายามจะหลีกเลี่ยงถ้าไม่จำเป็น (คำว่าไม่จำเป็นคือถ้าผมไม่ได้ต้องการรับคนในตำแหน่ง Senior หรือ Manager ที่รับเข้ามาแล้วทำงานได้เลยในช่วงที่ผมต้องการคนอย่างเร่งด่วน หรือรับคนที่มีความสามารถเฉพาะทางมากๆ ผมจะไม่ใช้) เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่บริษัทของผมเสียเปรียบและเสี่ยงที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ (ผมต้องจ่ายค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงให้กับ Headhunter หรือ Recruitment Agency อีกเหตุผลก็คือความเสี่ยงที่คนที่ผมรับเข้ามานั้นเข้าไปอยู่ในฐานของมูลของของ Headhunter หรือ Recruitment Agency นั้นๆ – นั่นหมายความว่าคนที่ผมรับเข้ามาจะมีโอกาสได้รับข้อเสนอให้ไปสัมภาษณ์งานที่อื่นๆ อยู่ตลอด)

6. Social Media

โซเชียลมีเดียก็ถือเป็นช่องทางที่ทรงพลังถ้าใช้ให้เป็น โดยช่องทางที่ผมอยากจะแนะนำมากๆ มีอยู่ 2 ช่องทาง

1. Facebook Group

ปัจจุบันนี้บริษัทต่างเข้าไปประกาศหางานตาม Facebook Group ต่างๆ มากมายเช่นถ้าเป็นงานสายดิจิทัล บริษัทก็จะเข้าไปโพสต์ที่กรุ๊ปดิจิทัลเตาะแตะ – หางานหาคน หรือถ้าเป็นสายเขียนโปรแกรม บริษัทก็จะเข้าไปโพสต์ที่กรุ๊ป Jobs for Thai Programmers

คุณสามารถเข้าไปติดตามข่าวสารตลอดจนดู Feed จากกรุ๊ปต่างๆ เหล่านี้ได้

2. LinkedIn

LinkedIn เป็น Social Network สำหรับมืออาชีพ ซึ่งการใช้ LinkedIn นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการหางานในเชิงรับ

สิ่งที่คุณควรทำคือการมีตัวตนบน LinkedIn เขียนโปรไฟล์ให้น่าสนใจ แชร์บทความหรือความรู้ที่เกี่ยวข้อง เดี๋ยวจะมีคนติดต่อเข้ามา

ผมแนะนำว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณแชร์บน LinkedIn ควรจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดครับ

ถ้าคุณอยากได้งานจากบริษัทข้ามชาติ ผมคิดว่า LinkedIn เป็นสิ่งที่คุณควรมีและควรทำมันให้ดีครับ

3. เริ่มขั้นตอน Pre-sales: แนะนำตัวเองให้ HR หรือบริษัทรู้จัก

เมื่อคุณมี Resume ที่ดีและไปอยู่ในที่ที่ HR หรือบริษัทอยู่แล้ว คุณจะเริ่มถูกติดต่อเข้ามา (หรือไม่คุณก็ติดต่อบริษัทไป) สิ่งที่คุณควรทำในขั้นนี้คือการแนะนำตัวเอง

ความประทับใจแรกมีได้เพียงแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นคุณควรที่จะทำความประทับใจนั้นให้ดีครับ

โดยปกติแล้วขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นอยู่ 2 ที่ 1. ทางอีเมล 2. ทางโทรศัพท์

1. ทางอีเมล

สิ่งที่ไม่ควรทำในการส่งอีเมล

– เขียนหัวข้อที่ดูไม่โปรเช่น I want to apply for a job (ไม่รู้ว่าสมัครตำแหน่งอะไร), สมัครงาน, ขอสมัครงาน (ไม่รู้ว่าสมัครตำแหน่งอะไรและสั้นไป)

– ใช้คำเขียนขึ้นต้นที่ดูไม่โปรเช่น Dear Admin (Admin คือใคร?), Hi, Hello, สวัสดี (ทักทายใคร?)

– แนบ Resume มาอย่างเดียว (เหมือนคุณเจอหน้าแล้วยื่น Resume ให้เลยโดยไม่มีการพูดคุยหรือทักทาย – ผมเจอแบบนี้หลายครั้งอยู่เหมือนกันซึ่งอีเมลที่มีแต่ Resume นั้นจะถูกส่งไปเก็บไว้ในกรุอย่างรวดเร็ว)

– ส่ง Resume เป็นไฟล์ Doc (บางที HR หรือบริษัทไม่ได้ใช้ Doc บนเครื่องของ Apple), Pages (บางทีบริษัทใช้แต่โปรแกรมของ Office ไม่ได้ใช้ของ Apple) หรือไฟล์รูปภาพ (ภาพอาจจะแตก)

สิ่งที่ควรทำในการส่งอีเมล

– เขียนหัวข้ออีเมลให้ดูโปรเช่นมีการใส่ชื่อตัวเองหรือชื่อตำแหน่งที่ต้องการสมัคร Application for the content creator position [Somchai Rukdee]

– ใช้คำเขียนขึ้นต้นให้ดูโปรเช่น Dear ABC Co., Ltd., Dear Human Resource Department หรือ To Whom it may concern (อันนี้ผมคิดว่าใช้ได้ แต่ผมไม่ชอบมันสักเท่าไหร่นักเพราะดูทางการเกินไป)

* ถ้ารู้ชื่อของคนที่คุณจะเขียนอีเมลถึงแล้วก็ใช้ Dear Khun…. ได้เลย

– พยายามปรับแต่งข้อความในอีเมลให้เหมาะกับตำแหน่งหรือบริษัทที่คุณสมัคร

ตัวอย่างของการปรับแต่งข้อความในอีเมลให้เหมาะกับตำแหน่งและบริษัทจากคนที่สมัครงานมาที่บริษัทของผม

– ส่ง Resume เป็นรูปแบบ pdf

– ถ้าทาง HR หรือบริษัทมีการนัดเข้าไปสัมภาษณ์แล้ว คุณควรที่จะยืนยันสถานที่ วัน และเวลากลับไปทางอีเมลอีกครั้งนึงด้วย

2. ทางโทรศัพท์

โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์นั้นจะเป็นในลักษณะที่บริษัทโทรมาหาคุณเพื่อเชิญไปสัมภาษณ์งานมากกว่าการที่คุณโทรไปสมัครงาน

สิ่งที่ควรทำในการคุยโทรศัพท์

– แสดงถึงความใส่ใจ (เช่นการใช้น้ำเสียงที่สุภาพ และมีการถามคำถามเพิ่มเติมบ้าง เช่นสัมภาษณ์ที่ห้องไหน ชั้นไหน หรือต้องเตรียมเอกสารอะไรไปบ้าง เป็นต้น)

– หาข้อสรุปจากการพูดคุย (ก่อนที่จะจบการพูดคุยทางโทรศัพท์ ถ้าทาง HR หรือบริษัทไม่ได้บอกสิ่งที่ต้องทำในขั้นถัดไป คุณควรที่จะถาม)

ผมเคยเขียนบทความ “ถอดรหัสสมัครงาน! 5 สาเหตุที่คุณไม่ถูกเชิญสัมภาษณ์งาน พร้อมวิธีแก้” เอาไว้ ลองไปอ่านดูได้ครับ

4. ก่อนขาย: เตรียมตัวสัมภาษณ์งาน

เมื่อคุณได้รับเชิญให้ไปสัมภาษณ์งานแล้ว ขั้นตอนก่อนที่จะไปสัมภาษณ์จริงคือการเตรียมตัว

ดังที่ซุนวูกล่าวไว้ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา” ยิ่งคุณเตรียมตัวดีเท่าไหร่ โอกาสได้งานก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ผมมีขั้นตอนง่ายๆ 5 ขั้นตอนที่ช่วยให้คุณเตรียมตัวได้ดีขึ้นครับ

1. ศึกษาบริษัท

การศึกษาบริษัทเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกๆ ก่อนที่จะไปสัมภาษณ์งาน สิ่งที่คุณต้องรู้มีอยู่ 1 อย่าง และสิ่งที่ควรรู้มีอีก 3 อย่างคือ 1. บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร 2. อะไรคือสิ่งที่บริษัทนั้นๆ เชื่อมั่น (วัฒนธรรมองค์กร) 3. ข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับบริษัท 4. คนที่สัมภาษณ์คุณ

เว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของบริษัทคือที่ที่ดีที่สุดในการที่คุณจะไปหาข้อมูล 3 ข้อแรก แต่ถ้าคุณหาไม่เจอจริงๆ ผมแนะนำให้ลองเอาชื่อบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไป Google ดูครับ ส่วนข้อที่ 4 นั้นอาจจะยังไม่จำเป็นมากนักในการสัมภาษณ์ครั้งแรกๆ กับ HR แต่เมื่อคุณเข้าไปรอบลึกๆ และได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าของบริษัทหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ ถ้าเป็นไปได้ ฃองถามชื่อของคนที่จะฟันธงว่าคุณผ่านหรือไม่ผ่านจาก HR จากนั้นก็เช่นเดิมคือเอาชื่อไปค้นหาใน Google ถ้าคนคนนั้นเคยออกสื่อบ้าง คุณจะพอเห็นแล้วว่าเขาคิดยังไง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร

2. ศึกษาตำแหน่งงาน

งานแต่ละตำแหน่งข้อการความสามารถและนิสัยของคนที่แตกต่างกัน

การศึกษาตำแหน่งงานที่คุณกำลังจะไปสัมภาษณ์จะทำให้คุณรู้ว่าหน้าที่ที่ทำที่ทำอยู่ตำแหน่งนั้นต้องรับผิดชอบต้องทำอะไรบ้างในทุกวัน และงานงานนั้นอาศัยความสามารถหรือนิสัยอะไรบ้าง เพื่อที่ว่าคุณจะได้หยิบยกจุดเด่นของคุณขึ้นมาพูดให้เหมาะกับงาน

เช่นถ้าคุณสมัครตำแหน่ง Sales ทักษะที่คุณควรจะต้องเน้นย้ำคือทักษะในการขายและเจรจาต่อรอง หรือถ้าคุณสมัครตำแหน่ง Customer Support ความรักในงานบริการหรือความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่คุณควรจะเน้นย้ำ

ผมไม่สนับสนุนให้โกหกเพื่อให้ได้งานนะ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าคุณได้งาน แต่งานนั้นดันไม่เหมาะกับคุณ คนที่จะ Suffer ที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คุณนั่นแหละ

3. เตรียมเอกสารและผลงาน

สิ่งที่คุณต้องเตรียมไปทุกครั้งที่ไปสัมภาษณ์ (ถ้ามี) คือ Resume และ Transcript

สิ่งที่ถ้าคุณเตรียมไปด้วยได้จะช่วยเพิ่มโอกาสคือ Portfolio ที่บอกว่าคุณเคยทำอะไรมาบ้าง

และสิ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณมากขึ้นไปอีกคือ Portfolio ที่เอาบริษัทที่คุณไปสัมภาษณ์งานมาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

เคยมีน้องคนนึงมาสัมภาษณ์งานที่บริษัทของผมในตำแหน่งนักเขียน ซึ่ง Profile และบุคลิกของเขาไม่มีอะไรน่าสนใจเลย แต่สิ่งที่ทำให้เขาเตะตาผมคือ Portfolio ผลงานการเขียนของเขาที่ทำเสมือนว่าเขาเป็นนักเขียนให้กับบริษัทจริงๆ แล้ว ในตอนนั้นผมต้องการนักเขียนเพียงแค่คนเดียว (และในใจก็ตัดสินใจเลือกอีกคนไว้แล้ว) แต่น้องคนนี้ตั้งใจและทำงานออกมาได้ดีมากจนผมรู้สึกเสียดายถ้าไม่รับน้องเขาเข้าทำงาน สุดท้ายในเดือนนั้น ผมก็ได้นักเขียนมาร่วมงาน 2 คน ซึ่งน้องคนนั้นได้เขียนเล่าประสบการณ์การสมัครงานที่บริษัทของผมไว้ในบทความ “ถอดรหัสสมัครงาน: 5 เทคนิคสมัครงานบริษัท ให้ได้งานที่ใช่!” ลองไปอ่านดูได้ครับ

4. เตรียมคำตอบ

ถ้าคุณลองค้นหาคำว่า “คำถามสัมภาษณ์งาน” หรือ “Job Interview Questions” ดู คุณจะพบว่ามีคนเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องคำถามที่คุณจะถูกถามเวลาสัมภาษณ์งานมากมายเต็มไปหมด

ซึ่งคำถามส่วนใหญ่นั้นคุณสามารถเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าก่อนได้ เช่นการแนะนำตัวเอง จุดเด่น จุดด้อย หรือทำไมถึงคิดว่าคุณเหมาะกับงานนี้ เป็นต้น

การเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าจะทำให้คุณร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลและน่าประทับใจ

5. ซ้อม ซ้อม ซ้อม

คำตอบต่างๆ ที่คุณคิดมา เมื่อมันอยู่ในกระดาษ ทุกอย่างจะดูลื่นไหลไปหมด แต่ถ้าคุณเริ่มพูดออกมาจากปาก มันเป็นอีกเรื่องนึงเลย

ถ้าคุณไม่ซ้อม (และคุณไม่ใช่นักพูดที่เก่งโดยธรรมชาติ) คุณจะพบว่าคุณไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างที่ใจคุณต้องการ

ผมแนะนำให้คุณลองซ้อมตอบคำถามให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย เพราะนอกจากที่จะช่วยเรื่องของความลื่นไหลในการพูดแล้ว การซ้อมยังช่วยให้คุณปรับบุคลิกเวลาสื่อสารได้อีกด้วย

และถ้าคุณเป็นคนที่ตื่นเต้นง่ายเวลาเจอเรื่องกดดัน ผมแนะนำให้คุณลองนั่งสมาธิสัก 3-5 วันก่อนวันสัมภาษณ์จริง ถ้าคุณไม่เคยนั่งสมาธิ ผมแนะนำให้ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน brain.fm ที่จะช่วยไกด์ให้คุณนั่งสมาธิได้ดีขึ้นมาลองใช้ดู

การที่บริษัทจะเลือกหรือไม่เลือกคุณเป็นเรื่องของบริษัท แต่การที่คุณจะสามารถทำให้พวกเขาประทับใจได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องของคุณ เพราะฉะนั้นเตรียมตัวให้ดี

5. ขาย: สัมภาษณ์

และแล้วก็มาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำมานั้นถูกทำมาเพื่อขั้นตอนนี้ ผมมีคำแนะนำอยู่ 4 อย่างให้คุณ

1. การแต่งตัว

ข้อนี้เป็นข้อที่ผมเจอคนทำพลาดอยู่บ่อยๆ

ถ้า Email เป็น First Impression บนโลกออนไลน์ การแต่งตัวก็เป็น First Impression บนโลกออฟไลน์

เพราะฉะนั้นการแต่งตัวให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ

คำว่าเหมาะสมในความหมายของผมคือแต่งตัวให้เหมาะสมกับงานเช่นถ้าคุณสมัครงานสายครีเอทีฟ คุณสามารถแสดงความครีเอทีฟออกมาได้ผ่านการแต่งตัวของคุณเหมือนกัน หรือถ้าเป็นการสมัครงานทั่วๆ ไป การใส่เสื้อสีอ่อนและกางเกง/กระโปรงสีเข้มก็จะเป็นการแต่งตัวที่เซฟที่สุด

ผมขอยกประโยคเดิมในขั้นการเขียนอีเมลมาให้อ่านอีกครั้งนะครับ “ความประทับใจแรกมีได้เพียงแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นคุณควรที่จะทำความประทับใจนั้นให้ดี”

2. บุคลิก

ตัวผมเองไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องบุคลิกภาพสักเท่าไหร่ แต่มันมีเรื่องของบุคลิกหรือการวางตัวที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับการสัมภาษณ์งานที่ทุกคนควรทำได้แก่ มองหน้าคนที่สัมภาษณ์ พูดด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจ ไม่ยุกยิกขยับตัวไปมาบ่อยๆ

นอกจากเรื่องความรู้ความสามารถแล้ว บุคลิก ท่าทาง และการวางตัวของคุณจะถูกประเมินโดยผู้สัมภาษณ์เช่นกัน

3. การตอบคำถาม

ผมคิดว่าการตอบคำถามที่ดีที่สุดคือ “การตอบให้ตรงคำถาม”

ก่อนที่จะตอบ พยายามคิดถึงคำถามให้ดีก่อน หรือถ้าคุณยังคิดคำตอบไม่ทัน คุณสามารถขอบคุณคนถามและทวนคำถามเพื่อเป็นการประวิงเวลาได้

และเมื่อถึงเวลาตอบคำถามพยายามตอบให้ตรง การอธิบายหรือการเวิ่นเว้อบ้างเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทำได้ตราบใดที่มันยังเกี่ยวข้องกับคำถามอยู่

4. การถามคำถาม

นอกจากที่คุณจะถูกประเมินจากการตอบคำถามของคุณแล้ว คุณยังจะถูกประเมินจากการถามคำถามอีกด้วย การถามคำถาม ถ้าถามอย่างชาญฉลาด จะเป็นตัวช่วยเสริมให้การตอบคำถามของคุณนั้นมีพลังมากยิ่งขึ้น

ครั้งนึง หลังจากที่ผมสัมภาษณ์เสร็จ ผมถาม Candidate ว่ามีคำถามอะไรรึเปล่า คำถามที่ Candidate คนนั้นถามคือ 1. โบนัสกี่เดือน 2. ลาได้กี่วัน แค่นั้น

แค่คำถาม 2 ข้อนี้ก็ทำให้เขาไม่ผ่านสัมภาษณ์งานทันที เพราะคำถามเขาไม่มีเรื่องงานเลย มีแต่เรื่องประโยชน์ของตัวเอง ถ้าผมรับเขาเข้ามาทำงาน มันก็มีโอกาสสูงที่เขาจะแคร์ประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ (ผมคิดว่าคำถามเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ เป็นคำถามที่ถามได้และควรถามเพื่อความชัดเจน แต่ควรจะลำดับความสำคัญให้ดี)

สรุปคำถามที่ผมคิดว่าควรถามอย่างน้อยๆ มีประมาณ 3 อย่าง 1. ความคาดหวังที่บริษัทมีต่อตัวคุณ 2. ลักษณะงานที่คุณจะได้ทำ (ถ้าบริษัทยังไม่ได้บอก) 3. กฏระเบียบของบริษัท และผลประโยชน์ต่างๆ

คนประเภทที่ผมจะไม่พิจารณารับเข้าทำงานเลยก็คือ 1. ตอบไม่ตรงคำถาม พูดจาเวิ่นเว้อ 2. ไม่มีความชัดเจนในตัวเองว่าอยากทำอะไร / ไม่มีความมั่นใจ 3. พูดจาว่าร้ายบริษัทเก่าของตัวเองหรือเอาแต่โทษคนอื่น

แถม! หลังการขาย: เตรียมตัวทำงาน

หลังจากที่คุณได้รับการตอบรับเข้าทำงานแล้ว โดยปกติคุณจะมีเวลาอยู่บ้างก่อนที่จะเริ่มงาน นอกจากที่ใช้เวลานั้นในการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวแล้ว ผมคิดว่าการเผื่อเวลาเตรียมตัวเพื่อพร้อมทำงานใหม่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ การแบ่งเวลามาเรียนรู้เกี่ยวกับงาน เกี่ยวกับบริษัท หรืออ่านเอกสารที่บริษัทเตรียมไว้ให้ก่อนเริ่มงานเป็นสิ่งที่ดี

ความสำเร็จมาจากโอกาสและการเตรียมพร้อม คุณได้รับโอกาสในการเข้าทำงานที่คุณฝันแล้ว เตรียมตัวเองให้พร้อม แล้วคุณจะพบกับความสำเร็จ

สรุป

1. ทำ Resume ให้ดี 2. พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ HR หรือบริษัทอยู่ 3. แนะนำตัว 4. เตรียมตัวสัมภาษณ์งาน 5. สัมภาษณ์

และนี่ก็คือ 5 ขั้นตอนการหางานให้ได้งานสำหรับนักศึกษาจบใหม่ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้งานที่ตรงในคุณมากขึ้นนะครับ

ขอให้ได้งานตามที่ตั้งใจครับ

ป.ล. บริษัทของผม Magnetolabs กำลังหาเพื่อนร่วมงานหลายตำแหน่งทั้งงานประจำและทั้งฝึกงาน ถ้าคุณเป็นคนที่มี Mindset ที่ดี มีความตั้งใจ และสนใจสายงานดิจิทัล ลองใช้สิ่งที่เรียนรู้มาในบทความนี้ มาสมัครงานได้ครับ 🙂

ผมทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ Entrepreneurship, Self-Development, Talent Management & Productivity เป็นประจำ

ไม่พลาดคอนเทนต์ดีๆ ที่จะทำให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพียงเลือกติดตามผ่านทางช่องทางด้านล่าง 🙂

1. Email: https://sitthinunt.com/#showform-36910
2. LINE: https://lin.ee/ac2WqRU หรือแอด LINE ID: @sitthinunt
3. YouTube: http://www.youtube.com/channel/UCUccGvRCg4IiEtFpxs0bJAQ
4. Blockdithttps://www.blockdit.com/sitthinunt.com
5. Clubhouse: http://joinclubhouse.com/@sitthinunt
6. Facebook: https://facebook.com/sitthinunt/

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top