ทำไมผมถึงดูเกรดและมหาวิทยาลัยเวลารับสมัครคนเข้าทำงาน?

Featured Image talent management why i take grade and university into account when recruit update

“เกรดและมหาวิทยาลัยไม่สำคัญ เราวัดกันที่ความสามารถ”

ใช่แล้วครับ เมื่อก่อนตอนที่ผมรับสมัครงานใหม่ๆ ผมคิดแบบนี้จริงๆ ซึ่งผมมักจะบอกกับ Partner ของผมเสมอว่า ถ้าคนคนนั้นมีความมุ่งมั่นในตอนสัมภาษณ์และทำการบ้านที่ให้ไปได้ดี คนคนนั้นก็คงจะโอเค ผมไม่สนใจเรื่องที่เป็นอดีตอย่างเกรดที่ได้และมหาวิทยาลัยที่จบมา

หลังจากสัมภาษณ์แล้ว แทบจะทุกคนจะได้รับการบ้านให้กลับไปทำ โดยที่การบ้านขึ้นอยู่กับตำแหน่งนั้นๆ

ผมคิดแบบนี้อยู่สักพักจนกระทั่งพักหลังที่ผมทำพลาดจนถึงขั้นต้องเชิญให้ออก

คนที่สัมภาษณ์ได้ ทำการบ้านดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้ดีเสมอไป

จริงๆ สิ่งที่ผมเห็น รับรู้ และสัมผัส ในตอนสัมภาษณ์และตอนดูการบ้านมันเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง เมื่อได้คิดก็เลยคิดได้ว่าผมน่าจะดูเกรดและมหาวิทยาลัยที่คนคนนั้นจบมาบ้างนะ เพราะข้อมูลเหล่านั้นมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม: การเรียนมหาวิทยาลัยยังจำเป็นต่อการทำงานอยู่รึเปล่า?

สิ่งที่เกรดและมหาวิทยาลัยบอก

1. บอกว่าคนคนนั้นถนัดหรือทำอะไรได้ดี

ถ้าคุณลองกวาดตาดูใน Transcript ของคนสักหนึ่งคน คุณจะพบว่ามันจะมีบางวิชาที่เขาทำได้ดีกว่าวิชาอื่นๆ ซึ่งมันจะพอบอกได้ว่าคนคนนั้นเก่งเรื่องอะไร และในขณะเดียวกันคุณก็จะเห็นด้วยว่าเขาไม่ถนัดเรื่องอะไร

ข้อมูลตรงส่วนนี้จะช่วย Screen ในเบื้องต้นได้เช่นถ้าตำแหน่งที่ผมกำลังรับสมัครอยู่ต้องมีการคิดคำนวณเยอะ คนที่ได้เกรด A หรือ B ในวิชาเลขหรือวิชาคำนวณก็จะมีโอกาสเหมาะกับตำแหน่งนี้มากกว่าคนที่ได้ C หรือ D

2. บอกถึงความรับผิดชอบ

เกรดเป็นตัวบอกว่าคนคนนั้นรับผิดชอบกับตัวเองแค่ไหน

สำหรับผมแล้ว คนที่ได้เกรด 2 ปลายๆ หรือ 3 กว่าๆ นั้นไม่ได้มีความต่างกันมาก มันแทบจะไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกเลยว่าคนคนนั้นจะทำงานได้หรือจะทำงานได้ดีแค่ไหน

แต่จะมีคนอยู่ 2 กลุ่มที่ผมจะต้องพิจารณามากเป็นพิเศษ

คนกลุ่มแรกคือคนที่ได้เกรดต่ำกว่า 2.5 ลงไป สาเหตุก็เป็นเพราะพวกเขาจะทำให้ผมสงสัยและไม่มั่นใจถึงความรับผิดชอบที่พวกเขามีต่อตัวเอง

ในส่วนนี้ผมพอจะมีประสบการณ์ตรงอยู่บ้าง คณะวิศวะซึ่งเป็นคณะที่ผมเลือกเรียนเป็นคณะที่ได้เกรดยากมากคณะหนึ่งในประเทศไทย (อย่างน้อยก็ตอนที่ผมเรียนอยู่) ตอนปี 1 เทอม 1 เกรดเฉลี่ยที่ผมได้คือ 1.97 (จำได้แม่นเพราะฝังใจกับมันมาก ฮา) ซึ่ง Ranking ของผมอยู่ที่ประมาณ 400 กว่าๆ จากทั้งหมด 650 คน) แต่สุดท้ายแล้วตอนจบปี 4 ผมก็ยังทำเกรดรวมขึ้นมาเกือบๆ 3 ซึ่งผมเองไม่ใช่คนเรียนเก่งและก็ไม่ใช่คนขยัน เพียงแค่ว่าผมพยายามที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองต้องทำเท่านั้นเอง

คนกลุ่มที่สองคือคนที่ได้เกรดสูงมากๆ แต่ Resume ว่างเปล่าเพราะไม่เคยร่วมงานของคณะ/มหาวิทยาลัย ไม่เคยทำกิจกรรม หรือไม่มีเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษ (ที่มีประโยชน์กับชีวิตและการทำงาน)

คนกลุ่มนี้มีความรับผิดชอบต่อการศึกษาอย่างเต็มเปี่ยม แต่อาจจะไม่ค่อยมีความรับผิดชอบต่อประสบการณ์ชีวิตของตัวเองสักเท่าไหร่ คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนอีกกลุ่มที่ต้องถูกพิจารณามากเป็นพิเศษ

เกรดเยอะ ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่เกรดเยอะแล้ว ควรจะต้องกิจกรรมแยะด้วยถึงจะน่าสนใจ

3. บอกถึงความพยายามที่มีมาตั้งแต่อดีต

เกรดในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยนั้นบอกถึงความรับผิดชอบในช่วง 4-5 ปีตอนเรียน แต่สำหรับตัวมหาวิทยาลัยเองนั้น ผมคิดว่ามันบอกถึงความตั้งใจของคนคนนั้นมาตั้งแต่อดีตเลย (อาจจะตั้งแต่ประถมด้วยซ้ำ) ซึ่งโดยสถิติแล้ว คนที่เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยระดับท๊อปได้น่าจะต้องสู้และพยายามมากกว่าคนที่ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยระดับท๊อป

ทั้งนี้ ผมไม่ได้บอกว่าคนที่ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยระดับท๊อปไม่สู้ ไม่ดีหรือไม่เก่งนะครับ แต่มันเป็นเรื่องของ “ความน่าจะเป็น (Probability)” คนที่พยายามมากกว่าก็มีความน่าจะเป็นคนที่จะเก่งกว่า เหมาะสมกว่า

ซึ่งผมใส่ “ความน่าจะเป็น” เป็นหนึ่งในปัจจัยในการพิจารณารับสมัครงานด้วยครับ

ทั้งนี้ทุกอย่างมีข้อยกเว้น

ไม่ใช่ทุกครั้งที่เกรดและมหาวิทยาลัยจะเป็นปัจจัยหลักในการรับสมัครคนเข้าทำงาน เกรดที่ได้และมหาวิทยาลัยที่จบมาจะมีความสำคัญน้อยลงถ้าคุณมี 2 อย่างนี้ครับ

1. ความสามารถ

ถ้าคุณเก่งและรู้จริงในสายงานที่คุณสมัครงาน เกรดและมหาวิทยาลัยจะไม่มีผลครับ

ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้คุณสามารถบอกให้บริษัทรู้ได้ว่าคุณเก่งและรู้จริงจะเป็น Resume ของคุณ เนื่องจากว่าคุณจะสามารถใส่อะไรลงไปใน Resume ก็ได้ ผมเชื่อว่าถ้าเป็นคนที่เก่งและรู้จริงจะพอรู้ว่าควรจะใส่อะไรลงไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขารู้จริงและแตกต่าง

ผมเคยเขียนเรื่อง Profile และวิธีการเขียน Resume ไว้ในข้อ 5 ของบทความ “ถอดรหัสสมัครงาน! 5 สาเหตุที่คุณไม่ถูกเชิญสัมภาษณ์งาน พร้อมวิธีแก้” ลองเข้าไปอ่านดูได้นะครับ

ข้อแม้ของข้อนี้คือคนรับสมัครงาน/คนสัมภาษณ์ต้องรู้เรื่องนั้นๆ ด้วย จะได้สามารถทดสอบได้ว่าคนที่เขาเรียกมาสัมภาษณ์นั้นรู้จริงรึเปล่า

2. ประสบการณ์

เกรดและมหาวิทยาลัยนั้นเอาไว้ใช้สำหรับคนที่จบใหม่หรือประสบการณ์น้อย เมื่อประสบการณ์มากขึ้น เกรดและมหาวิทยาลัยจะมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ และส่วนที่จะมีความสำคัญขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ คือประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาครับ

สรุป

ถึงแม้ว่าการเรียน 4-5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นถูกสรุปออกมาเป็นกระดาษเพียงแค่ไม่กี่แผ่น แต่จริงๆ แล้วข้อมูลที่อยู่ในกระดาษเพียงแค่ไม่กี่แผ่นนั้นมีประโยชน์มากในการรับสมัครคนเข้าทำงานเพราะข้อมูลเหล่านั้นถูกคัดกรองและรับรองคุณภาพมาในระดับหนึ่งแล้ว

ผมเชื่อว่าการเอาข้อมูลที่มีคุณภาพและเกี่ยวข้องมาช่วยตัดสินใจไปพร้อมกับข้อมูลชุดอื่น (เช่นการสัมภาษณ์และการบ้านที่ส่งให้) จะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมามันดีขึ้นครับ

คุณคิดยังไงกับความเห็นของผมบ้าง? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ!

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top