การเรียนอาจจะจบในห้องเรียน แต่การเรียนรู้ในชีวิตจริงไม่เคยจบสิ้น
ยิ่งปัจจุบันที่ความรู้เก่าหมดอายุเร็ว และมีเรื่องใหม่ๆ มาให้เรียนรู้มากมายเหลือเกิน
ในบทความนี้ ผมอยากเอา กฏแห่งการเรียนรู้ 7 ข้อของผมที่ใช้มาตลอดหลายปีมาแชร์ครับ
คิดว่าข้อไหนหยิบไปใช้ได้ ก็หยิบไปใช้กันนะครับ 🙂
กฏข้อที่หนึ่ง: You don’t have to learn from the best, just learn from someone who’s a few steps ahead
คุณไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากคนที่เก่งที่สุดในเรื่องที่คุณอยากรู้ แต่ให้เรียนรู้จากคนที่รู้มากกว่าคุณไม่กี่ขั้นก็เพียงพอแล้ว (ว่าง่ายๆ คือคนที่รู้เรื่องที่คุณอยากรู้ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้)
เพราะบริบทของคุณกับของคนที่เก่งที่สุดนั้นอาจจะไม่ได้เหมือนกัน
และถ้ามัวแต่จะมองหา “ที่สุด” คุณอาจจะต้องรอเรียนกับคนประเภทแบบ Warren Buffet, Elon Musk, J.K. Rowling หรือ Lionel Messi แทน ซึ่งคนเก่งที่สุดไม่ใช่ว่าจะสอนเก่ง และไม่ใช่ว่าเขาจะมีเวลามาสอน
กฏข้อที่สอง: The shorter, the better
เนื้อหา บทเรียน ยิ่งสั้น ยิ่งดี
ยิ่งการเรียนรู้สั้นเท่าไหร่ แสดงว่าเนื้อหาที่เราเรียน กำลังถูกเอามาย่อยและถ่ายทอดให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น
ส่วนตัว ผมไม่ชอบอะไรที่เน้นปริมาณ เช่นคอร์สละ 50-60 ชั่วโมง
คือถ้ามันยาวมากๆ เยอะมากๆ มีโอกาสสูงที่ผู้สอนจะยังตกผลึกมาให้เราไม่ดีพอ
ป.ล. สั้นแต่ต้องครบถ้วนนะ ไม่ใช่แค่สั้นอย่างเดียว แล้วสุดท้าย เรียนแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไร
กฏข้อที่สาม: Mostly, there are no finite answers
การเรียนรู้ที่สำคัญหลายๆ เรื่องมักจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแค่อย่างเดียว
คือเรื่องที่คนเราจะเรียนรู้ ส่วนมากแล้ว มันไม่ได้เป็นแค่ 1+1 = 2
สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องเข้าใจบริบท (Context) และเอามันไป Apply ต่อเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้งานจริงๆ
ในฐานะที่เป็นคนที่เรียนรู้ อย่าเชื่อคนสอนทุกอย่างโดยสนิทใจ (และคนสอนเองก็ไม่ควรจะฟันธงเช่นกัน)
สุดท้าย สำคัญที่สุดคือบริบทที่เอาไปใช้งานต่อครับ
กฏข้อที่สี่: Follow the rules, until you master it
ทำตามกฏ จนกว่าจะเชี่ยวชาญ
ถ้าเพิ่งเรียนรู้เรื่องไหนมาใหม่ๆ ให้ฝึกลองทำตามกฏให้เชี่ยวชาญก่อน จากนั้นค่อยหาทางออกนอกกรอบ
ถ้าจะนอกกรอบตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เชี่ยวชาญ มีโอกาสสูงมากที่สิ่งที่ทำจะ “พัง” แทน “ปัง”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นเรื่อง UX/UI (ดีไซน์ให้ดีและใช้งานง่ายก่อน) หรือเรื่องการเล่นดนตรี (เล่นให้ถูกคีย์ ถูกจังหวะ ก่อน แล้วค่อย Improvise)
กฏข้อที่ห้า: Implementation over Inspiration
เน้นเรียนขั้นตอนการทำมากกว่าการนั่งรับแรงบันดาลใจ
เวลาผมจะเรียนอะไร ผมชอบเรียน Topic ที่มันค่อนข้าง Specific รู้เลยว่าเรียนแล้วจะได้รู้เรื่องอะไร มากกว่าแค่ไปนั่งฟังเอาแรงบันดาลใจ
เพราะสุดท้าย ถ้ามันเจาะจงพอ มันจะใช้งานได้จริง
คือไม่ใช่ว่าผมจะไม่เสพเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจเลยนะ คือเสพแหละ แต่มันจะไม่อยู่ในรูปแบบการนั่งเรียน
แอบรู้สึกว่าความฮึกเหิมมันอยู่ได้ไม่นาน แต่วิธีคิดและขั้นตอนต่างๆ มันอยู่ได้นานกว่า
กฏข้อที่หก: It’s useless if you keep it only in your head
ความรู้จะไร้ประโยชน์ถ้าเราเก็บมันไว้แค่ในหัวสมอง
สำคัญคือต้องเอาสิ่งท่ีเรียนรู้มา มาลงมือทำด้วย
เรียนเขียนโค้ดเสร็จ ต้องลองสร้าง Project ขึ้นมา
เรียนเขียนเสร็จ ต้องลองเขียนบทความขึ้นมา
เรียนอะไรเสร็จก็แล้วแต่ ต้องสร้าง Output ออกมา
ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เรียนมามันอาจจะโบยบินออกจากสมองไป
กฏข้อที่เจ็ด: The more you teach, the more you learn
วิธีการเรียนรู้ขั้นสุดยอดที่เหนือกว่าการลงมือทำคือการสอนให้คนอื่นทำให้ได้
วิธีนี้เป็นวิธีที่ผมใช้บ่อยและใช้มานานมากๆ แล้ว
ทุกครั้งที่เตรียมเนื้อหาไปสอน (ต่อให้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าผมเข้าใจดีแล้ว) ผมพบว่าการสอนจะทำให้ผมตกผลึกและเข้าใจเรื่องนั้นๆ ไปอีกขั้นเลย
นอกจากการจัดคลาสแล้ว อาจจะเริ่มง่ายๆ จากการเขียนบทความหรือทำคลิปขึ้นมาก่อนก็ได้ครับ
Learn, Teach & Repeat
สรุป
หวังว่ากฏ 7 ข้อนี้ของผมจะเป็นประโยชน์กับคุณนะครับ
อ่านคอนเทนต์นี้ของผมจบแล้ว ได้เรียนรู้อะไรบ้าง มาสรุปให้ผมและคนอื่นๆ อ่านกันได้นะครับ 🙂
หรือถ้ามีวิธีไหนที่คุณใช้เป็นประจำแล้วเวิร์ค แล้วอยากเอามาแชร์ ก็มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์ได้เลยครับ