สถิติจาก Statista บอกไว้ว่า ในปี 2021 คนไทยแชร์ Fake News กันมากกว่า 20 ล้านกว่าคน แต่ Fake News เหล่านั้นถูกสร้างโดยองค์กรลับแค่ 10 องค์กรเท่านั้น
ลักษณะของ Fake News เป็นยังไง?
ถ้ามี 1 ใน 3 ข้อนี้ มีโอกาสเป็น Fake News
- โอเวอร์เกินจริง – อะไรที่ ดีเกินจริง แย่เกินเหตุ
- ไม่สมเหตุสมผล – เหตุและผลไม่สอดคล้องกัน
- เอียงเกินเหตุ – โจมตีหรือว่ากล่าว บุคคลหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
วิธีการทำให้ตัวเองไม่หลงเชื่อและแชร์ Fake News
- เข้าใจว่าสื่อที่เป็นกลางจริงๆ นั้นไม่มีจริง (แต่ที่มีหลักการยังมีหลายเจ้านะ) ถ้าอยากรู้ว่าสื่อไหนเข้าข้างใคร หรือฝ่ายไหน ลองไปเปิด DBD หรือ Creden ดู ถ้ารู้ว่าใคร หรือบริษัทไหนเป็นเจ้าของ และลองโยงใยความสัมพันธ์ดู จะเข้าใจมากขึ้น
- เข้าใจว่า Social Algorithm (โดยส่วนใหญ่) จะนำเสนอเรื่องราวที่เราสนใจและชอบมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
- ดูแหล่งที่มาของข่าวให้ดี อย่างโพสต์นี้ ผมแอบแชร์ Fake News ไปในตอนต้นด้วย เพราะจริงๆ แล้ว อ้างอิงสถิติจาก Statista คนที่สร้าง Fake News ไม่ได้มีเป็น 10 องค์กรลับ แต่เป็นคน 587 คน ถ้าไม่ไปเช็คตัวเลขใน Statista ก็คงจะไม่รู้
- พยายาม Cross Check จากหลายแหล่ง เรื่องเดียวกัน หัวข้อเดียวกัน ข้อมูลชุดเดียวกัน อาจจะมีหลากหลายมุมมองก็เป็นได้
- ไม่เสพสื่อช่องทางเดียว จริงๆ แล้วช่องทางหรือสื่อปัจจุบันมีหลากหลายกว่าเมื่อก่อนมากๆ แล้ว การเสพสื่อแค่ช่องเดียวและอนุมานว่าเรื่องต่างๆ น่าจะเป็นแบบนั้น โอกาสจะอยู่ใน Echo Chamber ของตัวเองและตกเป็นเหยื่อของ Fake News มีสูงมาก
- ลองค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องนั้นๆ เพิ่มเติมถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนอื่นๆ วิธีการง่ายๆ ก็คือลองเข้าไป Google ด้วย Keyword ต่างๆ ดูเพิ่ม ลองใช้ฟีเจอร์ Website Authority Checker ของ Ahrefs เช็คดูว่าเว็บนั้นๆ น่าเชื่อถือแค่ไหน (ค่า Domain Authority สูงแค่ไหน / มี Backlink ส่งมาแค่ไหน)
- เสริม Digital Literacy ของตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันเรียนรู้ได้เหมือนกับการเรียนรู้เรื่องภาษาหรือการเขียนโค้ด ลองเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ลองคุย/เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ๆ ที่เป็น Digital Native (i.e. Gen Z) จะทำให้โอกาสโดนหลอกน้อยลง
สุดท้าย อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ อ่านโพสต์นี้จบแล้ว ต้องเอาไป คิด วิเคราะห์ แยกแยะต่อด้วยนะครับ 🙂