“ลงทุน” คำคำนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และไกลตัวสำหรับหลายๆ คน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจนยังไงก็ตาม
ในบทความนี้ผมจะมาแชร์เหตุผลง่ายๆ 5 ข้อที่ทำไมคุณควรถึงจะต้องลงทุน และควรจะต้องเริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้
Note: การลงทุนมีความเสี่ยง คุณควรจะศึกษาข้อมูล (ทั้งข้อมูลในบทความนี้และข้อมูลจากแหล่งอื่น) ก่อนที่จะลงทุน
5 เหตุผลที่คุณควรจะเริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้
1. เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าวิธีการเก็บเงินไว้อยู่ในธนาคารเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและแทบไม่มีความเสี่ยง เพราะเงินที่ฝากไว้ดูเหมือนจะงอกเงยในทุกปี
แต่จริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านั้นเป็นเลขที่หลอกทั้งตาและความรู้สึก
สถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทยบอกไว้ว่า ณ ปัจจุบัน ดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์ (Saving) ของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 25 สตางค์ต่อปี (เทียบง่ายๆ ก็คือ 0.25% ต่อปี) ซึ่งตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ
เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในระยะยาวของประเทศไทยอยู่ที่ 1.55% ต่อปี (ข้อมูลจาก Thailand Investment Forum)
ความหมายคืออะไร?
ความหมายคือในระยะยาวแล้วเงินที่คุณเก็บไว้ในธนาคารจะมีมูลค่าสูงขึ้นไม่เท่ากับเงินเฟ้อ ปัจจุบันราคาก๋วยเตี๋ยวเฉลี่ยชามละ 50 บาท อีก 10-20 ปีข้างหน้าอาจจะเพิ่มเป็น 70 บาท ค่าครองชีพของคุณจะเพิ่มขึ้นโดยที่เงินในธนาคารของคุณโตตามไม่ทัน
ถ้าคุณอยากให้เงินของคุณโตตามเงินเฟ้อทัน (หรือโตกว่า) การลงทุนเป็นหนทางเดียวครับ
2. เพื่อบังคับให้ตัวเองเรียนรู้ความเป็นไปของโลก
คนเรามักจะให้คุณค่าในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง (โดยเฉพาะสิ่งที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง)
เมื่อคุณตัดสินใจเอาเงินที่คุณหามาได้ไปลงทุน เหรียญที่จะออกนั้นมีอยู่ 2 ด้าน ไม่คุณได้กำไร คุณก็ขาดทุน
ซึ่งพอคุณมีส่วนได้ส่วนเสียปุ๊ป มันจะเหมือนเป็นการบังคับตัวคุณเองกลายๆ ว่าให้คุณศึกษาเพิ่มเติม ถ้าคุณลงทุนในหุ้นหรือกองทุนเทคโนโลยีคุณก็จะต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพิ่มเติม ถ้าคุณลงทุนในหุ้นหรือกองทุนพลังงานคุณก็จะต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพลังงานเพิ่มเติม
ถึงแม้มันจะไม่การันตีว่าการศึกษาเพิ่มเติมจะนำมาซึ่งผลกำไร แต่มันก็ได้ผลกับคุณในเชิงจิตวิทยาแน่ๆ
สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้นมีหลายมิติตั้งแต่งบการเงิน ผลกำไรขาดทุน แนวทางของผู้บริหาร อุตสาหกรรมของธุรกิจที่คุณอยากจะเข้าไปลงทุน ตลอดจนเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของโลก
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มีแนวโน้มที่คุณจะต้องบังคับตัวเองให้ศึกษาถ้าคุณติดสินใจที่จะลงทุน
ดังที่วลีสุดคลาสสิกที่ผมใช้ในช่วงต้นได้บอกเอาไว้ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
3. เพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี
เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่ทุกคนที่อยู่ในตลาดแรงงานทุกคนเห็นตรงกันแน่นอน เพราะคุณจะเสียเงินน้อยลงถ้าคุณตัดสินใจที่จะลงทุน
สำหรับใครก็แล้วแต่ที่มีรายได้ในระบบเกิน 319,000 บาทต่อปีหรือ 26,583.33 ต่อเดือน (รวมประกันสังคม) จะเข้าข่ายข้อนี้หมด
ซึ่งการลงทุนที่ใช้สำหรับลดหย่อนภาษีในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลายทางเลือกเช่นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่ต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปี (ไม่เหมือนกับ LTF ในอดีตที่ถือแค่เพียง 7 ปี) การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่จะขายได้หลังอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือการลงทุนในประกันรูปแบบต่างๆ
การศึกษาเรื่องนี้อาจจะทำให้คุณประหยัดเงิน (จากการจ่ายภาษี) ได้ปีละหลายหมื่น
การจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ แต่การประหยัดภาษีเป็นทางเลือก อย่าลืมใช้ทางเลือกที่ว่านี้นะครับ 🙂
4. เพื่อใช้เงินต่อเงิน
การลงทุนเป็นการใช้เงินเพื่อต่อเงิน
แนวคิดส่วนใหญ่ที่ที่ปรึกษาและนักการเงินมักจะให้คำแนะนำก็คือคุณควรที่จะลงทุนเพื่อการออม เช่นถ้าคุณได้เงินเดือนเดือนละ 2 หมื่นบาท คุณลองจัดสรรเงินมาเดือนละ 2,000 บาทเพื่อใช้ในการออม เมื่อทำอย่างนี้เป็นประจำ พร้อมใส่เงินก้อนเพิ่มบ้างเป็นครั้งคราว เวลาผ่านไปหลายสิบปี เงินหลักพันต่อเดือนก็จะมีโอกาสงอกเงยไปเป็นหลักแสนหลักล้าน
Note: การลงทุนด้วยจำนวนเงินและเวลาอย่างสม่ำเสมอโดยที่ไม่สนใจกับสภาวะความผันผวนของตลาดมีชื่อเรียกว่า Dollar Cost Average หรือ DCA
นอกจากเรื่องการลงทุนที่เป็นเหมือนการออมแล้ว ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนึงชื่อว่า Millionnaire Fastlane โดย MJ DeMarco ซึ่งเขาบอกไว้ประมาณคนเลนช้า (หมายถึงคนชั้นกลาง) ใช้การลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง แต่คนเลนด่วน (คนรวย) จะลงทุนเพื่อสร้างรายได้และสภาพคล่อง ซึ่งผมคิดว่าแนวคิดนี้ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน
ในวันที่คุณยังไม่รวย คุณลงทุนเพื่อทำให้ตัวเองมีความมั่งคั่งมากขึ้น แต่ถ้าคุณรวยมากๆ แล้ว การลงทุนนั้นควรจะเป็นรายได้และสร้างสภาพคล่อง (ที่ช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลกับเรื่องการหาเงินมาใช้ได้)
สุดท้ายสิ่งที่อยากจะฝากไว้ในข้อนี้คือ “คุณทำงานเพื่อแลกเงิน ถัดมาคุณต้องใช้เงินให้ทำงานให้ได้ด้วย” ทั้งนี้ถ้าคุณรวย(อยู่)แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อแลกเงิน แต่ให้เงินทำงานให้กับคุณไปเลยได้
5. เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คุณต้องการ
ในชีวิตของคนเรามีสิ่งที่ถือว่าเป็น Milestone ของชีวิตอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ นาฬิกา หรือการศึกษาลูก
ถ้าคุณมองแต่เป้าหมาย คุณจะพบว่ามันยิ่งใหญ่และไกลตัวเหลือเกิน เพราะคุณไม่รู้ว่าคุณจะไปถึงเป้าหมายนั้นยังไง
สิ่งที่คุณควรทำคือการวิเคราะห์สิ่งที่คุณต้องทำระหว่างทางและมุ่งเป้าไปเพื่อสิ่งนั้น
ซึ่งการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คุณต้องการนั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผมคิดว่าดีเพราะคุณสามารถทำมันออกมาได้อย่างเป็นระบบและมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
เช่นถ้าคุณต้องการเก็บเงินให้ได้ 1,000,000 ในเวลา 10 ปี โดยที่คุณมีเงินต้นที่ใช้ในการลงทุนอยู่ที่ 100,000 บาท ถ้าคุณประเมินว่าเงินที่คุณลงทุนไปนั้นจะสร้างผลตอบแทนให้คุณ 4% ต่อปี คุณจะต้องลงทุนเพิ่มเดือนละ 5,913 บาท เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
การคำนวณในหัวหรือการคำนวณด้วยมืออาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นผมมีเครื่องมือ “ออมเท่าไหร่บรรลุเป้าหมาย” ที่สร้างโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาแนะนำให้คุณลองเอาไปใช้ครับ แค่กรอกเลขต่างๆ ลงไป เดี๋ยวโปรแกรมจะคำนวณออกมาให้เองครับ
การเดินทางไกลหมื่นลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก ยิ่งเก็บเร็ว ลงทุนเร็ว จะทำให้คุณได้มาซึ่งสิ่งที่คุณต้องการได้เร็วครับ
สรุป
และนี่คือ 5 เหตุผลที่ทำไมคุณถึงควรจะต้องลงทุน และถ้าจะให้ดีคือเริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้ครับ
จริงๆ แล้วสิ่งที่คุณสามารถไปลงทุนได้มีมากมายหลายแบบ (เท่าที่ลิสต์ดูคร่าวๆ น่าจะมีเป็นสิบอย่าง) แต่ถ้าอยากเริ่มต้นง่ายๆ ใช้เงินไม่เยอะเพื่อให้คุณลองศึกษาและเรียนรู้ ผมคิดว่าคุณอาจจะเริ่มจากกองทุนก็ได้ครับ ถ้าอยากเสี่ยงขึ้นมาอีกหน่อยก็ลองไปศึกษาเรื่องหุ้นดูครับ
ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการเรื่องนี้มากมาย ส่วนตัวผมเองชอบ Jitta (ผมใช้ลงทุนในหุ้นโดยที่ให้ Jitta บริหารให้ทั้งหมด และซื้อกองทุนแบบ ETF ต่างประเทศ) และ Finnomena (ผมใช้ลงทุนในกองทุน โดยเฉพาะกองทุนที่ลงใน Asset ของต่างประเทศ) ป็นพิเศษครับ
เรื่องทางเลือกในการลงทุน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่รายละเอียดค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นผมขอเก็บไว้ลงรายละเอียดในบทความถัดๆ ไป (ถ้าเขียนเสร็จแล้วจะลิงก์ไปอ่านเพิ่มเติมครับ)
สุดท้ายสิ่งที่อยากจะขอฝากไว้และขอย้ำอีกครั้งคือ การลงทุนมีความเสี่ยง คุณควรที่จะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่จะลงทุนนะครับ
Happy Investing ครับ 🙂