การที่คุณเข้ามาอ่านบทความนี้แสดงว่าคุณไม่อยากจะพ่ายแพ้
คำแนะนำแรก
คำแนะนำแรกของผมที่อยากจะให้กับคุณคือ “จงยอมแพ้ที่จะไม่พ่ายแพ้ไปซะ” เพราะในชีวิตนี้ ถ้าคุณไม่ได้นั่งไม่ได้นอนอยู่เฉยๆ คุณจะต้องพบเจอกับสิ่งเหล่านี้อีกหลายครั้งหลายหนแน่ๆ
มีตัวอย่างมากมายของคนพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่
Steve Jobs ถูกไล่ออกจาก Apple บริษัทที่เขาก่อตั้งมากับมือตอนอายุ 30 ปี แต่ได้กลับมาเป็น CEO ของ Apple อีกครั้งพร้อมพา Apple ให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
Melanie Perkins ที่เป็น CEO ของ Canva (บริษัทที่ทำซอฟต์แวร์ออกแบบที่ปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า $1,000 ล้าน) ตระเวนเสนอไอเดียกับนักลงทุนมากกว่า 100 คนกว่าจะได้รับเงินลงทุน
J.K. Rowling ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ 12 สำนักพิมพ์กว่านวนิยายชื่อดังของโลกอย่าง Harry Potter จะถูกตีพิมพ์
และเรื่องราวอีกหลายเรื่องราวทั้งที่ถูกเปิดเผยและไม่ถูกเปิดเผย
ไม่ว่ายังไง ความพ่ายแพ้เป็นเส้นทางที่คนสำเร็จทุกคนต้องเจอ แต่ถึงแม้ว่าคุณจะต้องเจอกับความพ่ายแพ้แน่ๆ คุณสามารถเลือกที่จะแพ้ศึกเพื่อชนะสงครามสุดท้ายได้ครับ
แพ้อย่างไรเพื่อที่จะชนะในอนาคต
1. จัดการกับสภาพจิตใจตัวเอง
สิ่งแรกที่คุณควรจะต้องทำเป็นอย่างแรกเวลาเจอความพ่ายแพ้คือการจัดการกับสภาพจิตใจของตัวเอง
เพราะ “จิตใจของคุณ” จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางเดินต่อไปว่าคุณจะยอมแพ้หรือไปต่อ
คำแนะนำง่ายๆ ของผมในการจัดการกับสภาพจิตใจคือการพูดคุยครับ
พยายามลองพูดคุยกับคนที่เคยเจอความพ่ายแพ้หรือล้มเหลวแบบเดียวกับคุณมาหรือถ้าหาไม่ได้ อย่างน้อยพยายามหาคนที่ใกล้ชิดกับคุณที่เขาจะสามารถให้กำลังใจกับคุณได้
การเจอคนที่เข้าใจ จะทำให้ใจของคุณดีขึ้นครับ
อ่านเพิ่มเติม: สกิลที่สำคัญที่สุดที่ Founder ทุกคน “ต้อง” ฝึกฝน
2. ตกผลึกเพื่อพัฒนา
เมื่อสภาพจิตใจของคุณดีข้ึนแล้วก็ถึงเวลาที่จะตกผลึกถึงสาเหตุที่คุณพ่ายแพ้หรือล้มเหลว
คำแนะนำง่ายๆ ของผมของการตกผลึกเพื่อพัฒนาก็ยังคงเป็นการพูดคุย
เพียงแต่ว่าตัวละครของการพูดคุยจะเพิ่มขึ้นมา นอกจากที่คุณจะสามารถพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์คล้ายๆ คุณมาก่อนได้แล้ว กลุ่มคนสำคัญที่คุณควรจะพูดคุยด้วยก็คือคนที่ทำงานร่วมกับคุณ
สิ่งที่ผมเคยทำมาแล้วได้ผลดีตอนเรียนปริญญาโทคือสิ่งที่เรียกว่า “Reflection Time”
Reflection Time จะเป็นการนัดดื่มกันตอนเย็นๆ ดึกๆ อย่างไม่เป็นทางการโดยมีจุดประสงค์เพื่อ 1. ดื่มให้กับสิ่งที่ผ่านพ้นไป 2. เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้พูดคุยอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
พอแต่ละคนเริ่มดื่มได้ที่ ก็จะเริ่ม Reflection Time โดยก่อนอื่นที่จะเริ่มพูดต้องตกลงกันก่อนว่าจะเปิดใจกัน พยายามพูดในสิ่งที่คิดออกมาตรงๆ และสัญญาว่าจะไม่โกรธกัน
จากนั้นก็เริ่มพูดถึงความสำเร็จ ล้มเหลว และฟีดแบ็กต่างๆ ที่ให้เพื่อนร่วมทีม
หลังจาก Reflection Time คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำมามากขึ้นอย่างแน่นอนเพื่อที่สุดท้ายคุณจะ Learning to Fail ไม่ใช่ Failing to learn
3. ล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิก
การพ่ายแพ้และการล้มเหลวเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้กับคนทุกคนที่ลงมือทำ แต่การ “ไม่ล้มเลิก” เป็นสิ่งเลือกได้
ถ้าคุณจัดการกับสภาพจิตใจของตัวเองได้ดี ตกผลึกสิ่งสำคัญเพื่อนำมาพัฒนาตัวเองได้ และคุณตัดสินใจที่เดินต่อ การพ่ายแพ้หรือการล้มเหลวของคุณจะเป็นเรื่องชั่วคราวครับ เพราะถ้าคุณตัดสินใจว่าจะไม่ล้มเลิก ยังไงคุณก็จะเดินทางไปได้ไกลกว่าเดิม
ป.ล. ผมขอโน้ตไว้นิดนึงว่าการล้มเลิกที่จะทำในสิ่งที่คุณไม่เห็นทางที่จะไปต่อเป็นสิ่งที่ทำได้นะครับ ซึ่งคำว่าไม่เห็นทางที่จะไปต่อคือคุณตกผลึกได้ว่าความสำเร็จนั้นๆ เป็นสิ่งที่คุณไม่ได้ต้องการ
สรุป
หวังว่าหลังจากที่คุณอ่านบทความนี้จบแล้วคุณจะยอมแพ้ที่จะไม่พ่ายแพ้นะครับ
ไม่ใช่คนที่พ่ายแพ้และล้มเหลวทุกคนจะสำเร็จ แต่คนที่สำเร็จทุกคนล้วนต้องผ่านการพ่ายแพ้และล้มเหลว เป็นกำลังใจให้คุณสามารถ Fail Forward ได้นะครับ 🙂
ถ้าคุณชอบบทความนี้ ผมคิดว่าคุณจะชอบบทความ 30 สิ่งที่ผมเรียนรู้มาก่อนอายุ 30 ปี เช่นกันครับ