12 เทคนิคช่วยให้แชร์ความรู้ในที่สาธารณะได้ดีขึ้น

Featured Image public speaking techniques

ผมจำได้ว่าตอนผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ปี 4 แค่จะต้องก้าวขาเดินจากที่นั่งเพื่อลุกขึ้นไปพรีเซนต์ให้อาจารย์และเพื่อนๆ ฟัง ก็เริ่มรู้สึกหน้าชาขาสั่นแล้ว

แต่ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสแชร์ความรู้ค่อนข้างบ่อย ทั้งแบบที่เป็น Conference ที่มีคนฟังหลักร้อยคน และสอนแบบเป็น Class ที่มีคนฟังไม่เยอะแต่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันเยอะ และช่วง 2-3 ปีนี้ ก็มีแชร์แบบออนไลน์หลายครั้ง

โดยรวม น่าจะสัก 20-30 ครั้งต่อปีได้

เอาจริงๆ ก็ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับพี่ๆ น้องๆ หลายคน แต่อย่างน้อย เด็กน้อยที่ “หน้าชาขาสั่น” ในวันนั้น วันนี้ ก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นเด็กโข่งที่ “หน้าหนาขานิ่ง” มากขึ้น 😂

คือพอจะเป็นคนที่แชร์ในที่สาธารณะได้มากขึ้น ก่อนพูดไม่ว่างานเล็กหรือใหญ่ก็ยังคงมีความตื่นเต้นตึกตักในหัวใจ แต่ไม่ตระหนกตกใจเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ซึ่งผมคิดว่า สิ่งที่ผมประสบพบเจอ น่าจะพอเป็นประโยชน์กับคนที่อยากจะเริ่มพูดในที่สาธารณะ ผมก็เลยเขียนบทความนี้ขึ้นมาครับ

ถ้าคุณอยาก “หน้าหนาขานิ่ง” มากขึ้น เนื้อหาในบทความนี้พอจะช่วยได้ครับ 🙂

*โน้ตไว้นิดนึง ใครที่เคยฟังผมพูดในที่สาธารณะก็จะพอรู้ว่า ผมไม่ได้พูดดี พูดเก่ง ฟังจบ คนลุกขึ้นปรบมือเกรียวกราวนะครับ ผมยังห่างชั้นกับเรื่องนี้มาก (มากแบบ ก สิบๆ ตัว) แต่ผมคิดว่าผมดีขึ้นในทุกๆ ปี ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ คิดว่าพัฒนาได้อีกเรื่อยๆ ครับ

1. รู้จักผู้ฟัง

ด้วยเนื้อหาและวิธีการพูดแบบเดียวกัน คุณอาจจะเป็นผู้พูดที่ดีที่สุดในงานงานหนึ่ง และเป็นผู้พูดที่แย่ที่สุดในอีกงานหนึ่งก็ได้

คำถามแรกๆ ที่คุณควรจะต้องถามคนที่เชิญคุณไปพูดคือผู้ฟังคือใคร มีความรู้ในเรื่องที่คุณจะสอนประมาณไหน และพวกเขาคาดหวังอะไรจากการเรียนในครั้งนี้

ปกติแล้ว ผมจะขอนัดประชุมกับคนที่เชิญไปพูด อย่างน้อย 1 ครั้งเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่จะแชร์ ตรงกับความต้องการของผู้ฟัง ไม่ยากไปจนไม่รู้เรื่อง และไม่ง่ายไปจนไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่

เรื่องนี้เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าเม็ดแรกผิด เม็ดหลังจากนั้นก็จะผิดหมด

2. เทคนิคง่ายๆ ที่ทำให้คนเปิดใจให้คุณ

ถ้าคนเปิดใจ คนก็จะเปิดสมองฟังสิ่งที่คุณพูด กลับกัน ถ้าคนไม่เปิดใจ ต่อให้เนื้อหาคุณดียังไง มันก็จะไม่เข้าหัวคน

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ทำได้ง่ายๆ ถ้าทำแล้วคนจะเปิดใจให้คุณมากขึ้น และมีโอกาสที่พวกเขาจะมีอารมณ์ร่วมไปกับคุณจนจบ

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ผมเรียนรู้มาจากการดูละครเวทีครับ

ในละครเวทีหลายๆ เรื่อง ตอนเริ่มต้น พวกเขาจะทำการกระตุ้นให้คนดูมีส่วนร่วม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้คนดูรู้สึกว่า เราเป็นมิตร เรามาดี

ตัวอย่างละครเวทีเรื่องล่าสุดที่ผมไปดูมาที่เกาหลีคือเรื่อง Cooking Nanta ที่พวกเขาจะให้คนดูพูดตาม และยกมือยกไม้ก่อนที่ละครจะเริ่ม เพื่อทำให้คนรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับละคร (นี่ยังไม่รวมเรื่องที่พวกเขามีการชวนคนดูออกไปร่วมแสดงด้วยเป็นระยะ)

เช่นเดียวกับการพูดในที่สาธารณะ ที่คุณไม่ควรเริ่มต้นด้วยการซัดเนื้อหาใส่คนฟัง แต่ควรเริ่มจากการ “ละลายพฤติกรรม” ก่อน

ผมแนะนำให้คุณใช้เวลาในช่วงแรกๆ สัก 20-30 วินาที ทำการโต้ตอบกับผู้ฟัง วิธีการง่ายๆ เช่น

  1. ขอให้คนฟังยกมือด้วยการถามคำถามที่เกือบทุกคนน่าจะต้องยกมือเมื่อได้ยินคำถามนี้
  2. ขอให้คนฟังพูดอะไรบางอย่างออกมา (ถ้าเป็นออนไลน์ก็คือขอให้พิมพ์) ท่าพื้นฐานที่สุดที่ผมใช้คือให้พวกเขาตะโกนพร้อมๆ กันว่า “พร้อมแล้ว” ก่อนจะเรียน

หรือจะด้วยวิธีการไหนก็ได้ให้ผู้ฟังโต้ตอบกับคุณ ยิ่งเขาปฏิสัมพันธ์กับคุณได้เร็วเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งเปิดใจให้คุณเร็วขึ้นเท่านั้น

3. อย่าประมาท

ถ้าก่อนวันที่คุณจะต้องพูด หรือในวันที่คุณจะต้องพูด คุณรู้สึกชิล ไม่มีความตื่นเต้นเลย ให้ระวังเอาไว้เพราะนี่คือสัญญาณแห่งความประมาท

ผมเคยถูกชวนไปพูดในเรื่องที่ผมมั่นใจว่าผมรู้ดี อีกทั้งยังเคยพูดเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วด้วย ผมก็เลยไม่เตรียมตัว ไม่รีวิวสไลด์ และไม่เตรียมวิธีการพูดเปิดเลยแม้แต่นิดเดียว

พอถึงวันจริง ปรากฏว่าผมพูดติดขัด และถ่ายทอดเนื้อหาได้ไม่ดีเลย

หลังจากวันนั้น ไม่ว่างานพูดเล็กใหญ่แค่ไหน คนฟังจะเป็นใคร ผมจะใช้เทคนิค 3 ข้อนี้ก่อนถึงวันพูดทุกๆ ครั้ง

  1. รีวิว (Review): อย่างน้อยขอให้เนื้อหาผ่านตาสัก 1 รอบดูว่าสิ่งที่จะเอาไปแชร์มีเรื่องอะไรบ้าง
  2. ซ้อม (Practice): อย่างน้อยที่สุดผมแนะนำให้คุณซ้อมตอนเปิดให้ดี เพราะความประทับใจแรกมีได้แค่ครั้งเดียว (The first impression is the last impression) และที่สำคัญ ยิ่งเวลาในการพูดสั้นเท่าไหร่ ยิ่งต้องซ้อมเยอะเท่านั้น
  3. นั่งสมาธิ (Meditate): การนั่งสมาธิก่อนพูดจริงสัก 2-3 วันล่วงหน้า (ปกติผมจะนั่งครั้งละ 15 นาที) จะทำให้จิตใจรวมศูนย์ ไม่ล่องลอย เวลาขึ้นพูดจะได้ไม่ลืมสิ่งที่ตัวเองจะต้องพูด

ความตื่นตัวและตื่นเต้นเล็กๆ เป็นสิ่งที่ดี ถ้าความรู้สึกนี้ไม่เกิดขึ้น ให้ใช้ขั้นตอน 3 ข้อทางด้านบนสร้างมันขึ้นมา

4. Overdress ดีกว่า Underdress

แต่งตัวดีเกินไป ยังไงก็ดีกว่าแต่งตัวแย่เกินไป

สำหรับการพูดในที่สาธารณะ สำคัญคือคุณควรจะต้องดูดี

เพราะไม่ว่าจะพูดยังไงก็แล้ว คนส่วนใหญ่ก็ยังคง Judge the book by its cover (ตัดสินหนังสือจากปก หรือถ้าตามบริบทนี้คือตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก)

และการแต่งตัวที่ดูดีก็ไม่จำเป็นต้องหรูหรือแพง

สำหรับผู้ชาย ท่าพื้นฐานก็อาจจะเป็นการมีสูท (หรือ Blazer) และกางเกงที่สี Match กัน พร้อมกับเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืดด้านในที่สีตัดกับสูท บวกกับรองเท้าหนัง (อาจจะเป็น Penny Loafer หรือ Oxford) หรือรองเท้าผ้าใบสวยๆ สักคู่ก็ทำให้คุณดูดีแล้ว

การแต่งตัวแบบนี้ ถ้าอยากได้แบบประหยัด แค่ 3,000-4,000 บาทก็เอาอยู่ หรือถ้าจะเอาแบบดูดี ทั้งเซตนี้ 8,000-10,000 บาทก็พอไหว (หลักๆ ต่างกันที่สูท/กางเกง กับรองเท้า ถ้าสูทผมแนะนำให้ไปซื้อสูทสั่งตัด หรือสูทสำเร็จ & แก้ได้จาก Suitcube ราคา 4,000-8,000 บาท และรองเท้าที่ผมชอบคือของ Mango Mojito ราคา 4,000-6,000 บาท)

พวกอุปกรณ์แต่งผมก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ การทำความรู้จักกับพวก Pomade หรือ Spray อะไรพวกนี้ไว้บ้างก็เป็นเรื่องดี (ยี่ห้อที่ผมชอบ เพราะคิดว่าราคาดีคุณภาพได้คือ Gatsby)

ส่วนของผู้หญิง ผมคิดว่า Combination คงคล้ายๆ กัน (ต่างกันที่รองเท้า หรือบางทีสูทอาจจะไม่จำเป็น) ถ้าสุภาพสตรีท่านไหนแวะมาอ่าน มาแนะนำกันได้นะครับ

ขอให้ข้อมูลประมาณนี้แล้วกันครับ เริ่มลงรายละเอียดเยอะ 😂

เรื่องพวกนี้ ศึกษาไม่ยาก ใช้เวลาไม่นาน รู้แล้วใช้ต่อได้ยาวๆ ครับ

5. พูดจาภาษาคน

กับดักของคนที่มีความรู้เฉพาะทางเรื่องใดเรื่องหนึ่งมักจะเจอเหมือนๆ กันคือการทึกทักเอาเองว่าคนจะรู้เหมือนๆ กับเรา

ซึ่งเอาจริงๆ ไม่จริงเลย

ลองจิตนาการดูว่าถ้าผมไปสอน Digital Marketing แล้วผมพูดว่า “ในวันนี้ผมจะมาสอนคุณวาง Strategy เพื่อทำให้ Performance ของการทำ SEO และ PPC ของธุรกิจของคุณดีขึ้น”

คุณคิดว่าคนฟังจะรู้สึกยังไงครับ?

โอเค ถ้าคนที่อยู่ในสาย Digital Marketing อยู่แล้ว อาจจะพอฟังเข้าใจ แต่มันต้องมีคนที่ยังใหม่กับเรื่องนี้และฟังไม่เข้าใจแน่ๆ

ผมเองเคยโดน Feedback หลังจบคลาสมาว่าใช้คำศัพท์เฉพาะทางเยอะไป ฟังไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็เคยโดนคนฟังยกมือขึ้นมาระหว่างคลาสแล้วบอกว่าขอใช้ภาษาอังกฤษให้น้อยๆ หน่อยก็มีเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คำแนะนำของผมที่อยากจะให้คุณคือ พยายามลดการพูดไทยคำอังกฤษคำลง (ถ้าพูดไทยคำอังกฤษคำ อาจจะมีคนไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดไทยทั้งหมด ทุกคนจะเข้าใจ) และถ้าใช้คำศัพท์เฉพาะ ต้องอธิบาย

ทั้งนี้ อันนี้ก็ไม่ตายตัว ถ้าผู้ฟังของคุณเป็นคนที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว การใช้คำศัพท์เฉพาะทางหรือการที่พูดเนื้อหาให้เร็วหน่อยก็สามารถทำได้

การถ่ายทอดความรู้คือการทำให้คนฟังเข้าใจในสิ่งที่เราพูด ไม่ใช่การแสดงให้รู้ว่าเรารู้ เราเก่ง ครับ

6. มากไป… รับไม่ไหว

อันนี้ผมเป็นบ่อยเลย คือเวลาไปแชร์ความรู้หรือไปสอน ก็พยายามที่จะให้อย่างเต็มที่ แต่การให้เยอะก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป

อธิบายง่ายๆ เลยคือ หลายๆ ครั้ง สมมติว่าผมเตรียมไป 10 แต่สอนทันเวลา (แบบรีบๆ) สัก 8 และสุดท้ายอาจจะเข้าหัวคนที่ฟังแค่ 2 หรือ 3

ความรู้ก็เหมือนกับอาหาร ถ้ามันเยอะไป อิ่มไป มันก็จะไม่อร่อย แล้วก็ได้ความทรมานมาเป็นของแถมด้วย

คุณควรจะพยายามทำให้ความรู้ที่คุณเสิร์ฟนั้นเป็นเหมือนอาหารในร้าน Fine Dining หรือ Omakase คือเน้นให้คนกินรับรู้รสอย่างเต็มที่ กินให้พอดีๆ (แบบว่าให้มีความรู้สึกอยากกินต่ออยู่) ซึ่งความรู้สึกนั้นจะทำให้คนกินรู้สึกว่าอาหารมันอร่อยที่สุด (ความรู้ที่ได้มันได้เนื้อได้หนังที่สุด)

เตรียมเนื้อหาไปสอนให้พอดีๆ หรืออาจจะให้มากกว่าที่เวลาจะมีสักเล็กน้อย แต่อย่าเตรียมไปเยอะ แล้วคิดว่าค่อยไปเร่งเอาตอนสอน เพราะสุดท้ายมันจะไม่เข้าหัว

7. รักษาสภาพร่างกายและจิตใจให้ดี

1-2 วันก่อนวันพูดเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณควรจะต้องรักษาสภาพร่างกายและจิตใจให้ดี

คำแนะนำของผมคืออย่ากินอาหารหนักๆ หรืออาหารที่ทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนเช่นพวก เนื้อ ปิ้งย่าง หรือกิมจิ และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

บางเรื่องควรเลี่ยงก่อนสัก 4-5 วันเป็นอย่างน้อย เช่นการไปดื่มหนักๆ หรือไปงานปาร์ตี้ที่มีดนตรีสด (เพราะคุณอาจจะเมาและแหกปากร้องเพลงตาม แล้วจะทำให้เสียงแหบ)

นอกจากนั้นแล้ว ในวันสอน ผมแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะเป็นตัวขับปัสสาวะ แล้วก็น้ำเปล่า เวลากินควรเน้นจิบ ไม่ควรดื่มจำนวนเยอะๆ

ผมเคยต้องขออนุญาตผู้เรียนไปปัสสาวะระหว่างสอนด้วย ซึ่งผมว่ามันทำให้ดูไม่โปรเลย

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ส่งผลต่อการถ่ายทอดเนื้อหาของคุณแน่ๆ ครับ

8. อย่าลืมสำรวจสถานที่

อีกเรื่องที่ผมชอบทำคือการไปสำรวจสถานที่หรือเวทีก่อนที่จะทำการพูดเพื่อที่จะได้จินตนาการถูกว่าตอนพูดจริงสภาพแวดล้อมจะมีหน้าตาเป็นยังไง ผมควรจะต้องยืนหรือเดินไปทางไหน และมีอะไรที่จะมารบกวนสมาธิตอนพูดได้บ้าง (เช่นถ้าเกิดประตูที่คนมักจะเปิดเข้ามาอยู่ด้านซ้ายมือของผม ผมก็จะคุยกับคนจัดก่อนว่าปิดประตูนี้ไปเปิดประตูอื่นได้ไหม ถ้าไม่ได้ ตอนพูดจริง ผมก็จะพยายามไม่มองไปทางด้านนั้น)

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ โดยเฉพาะในงาน Conference ที่โดยมากแล้วทั้งเวทีจะเป็นของคุณ

ถ้าพูดบ่าย ให้ลองไปสำรวจตอนเช้า ถ้าพูดเช้า ให้ไปสำรวจช่วงเช้ากว่า จะได้ไม่ตื่นเต้นหรือเจอปัญหาตอนพูดจริง

9. อุปกรณ์ต้องพร้อม

Laptop, Charger (สายชาร์จ), Adapter (หัวแปลง), Clicker (ตัวคลิกสำหรับเปลี่ยนสไลด์) อุปกรณ์เหล่านี้ คุณต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอสำหรับการพูด

ถ้าคุณกลัวว่าจะลืม วิธีการที่ผมคิดว่าง่ายละดีที่สุดก็คือการไม่ต้องจำ พกอุปกรณ์เหล่านี้ติดตัวไว้เสมอ ของที่คนมักจะลืมบ่อยๆ คือ Adapter และ Clicker ซึ่งของ 2 อย่างนี้มันไม่หนักเลย

นอกจากนั้นแล้วความรู้เกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Laptop ของคุณกับจอต่างๆ ก็ต้องมีบ้าง เช่นต้องรู้ว่าจะ Mirror หน้าจอยังไง หรือพวกสาย HDMI (และ VGA) คืออะไร

ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้พื้นฐานที่คนที่แชร์ความรู้เป็นประจำควรเรียนรู้ไว้ครับ

10. ขอ Feedback

คำว่าขอ Feedback ในที่นี้ ไม่ใช่การขอ Feedback ในรูปแบบการประเมินผลหลังจากที่จบการแชร์ความรู้หรือการอบรม แต่เป็นการขอ Feedback “ระหว่าง” การแชร์ความรู้หรือระหว่างการอบรมเลย

ช่วงพักเบรคเช้า พักเที่ยง หรือพักเบรคบ่าย ลองเดินไปคุย ไปขอ Feedback จากผู้เรียนดู ถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง มีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมรึเปล่า หรือมีเรื่องไหนอยากรู้เพิ่มเป็นพิเศษไหม

หรือหลังจากที่คุณสอนจบ 1 เรื่อง ก่อนจะไปเรื่องถัดไป ให้ถามผู้ฟังก่อนว่าสงสัยตรงไหน หรืออยากรู้อะไรเพิ่มเติมรึเปล่า

การขอ Feedback ก่อนจบการอบรม จะสามารถช่วยให้คุณปรับเนื้อหาหรือวิธีการสอนได้อย่างทันท่วงที

เพราะการขอ Feedback แค่ตอนจบแล้ว ผู้ฟังหรือผู้เรียนอาจจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการให้ Feedback

ถามให้เร็ว ปรับให้เร็ว เนื้อหาที่คุณแชร์จะได้ตรงกับสิ่งที่ผู้ฟังอยากรู้

11. อย่าลืมหาเวลาลงมือทำ

ผมคิดว่าประสบการณ์ของผู้พูดเป็นเรื่องสำคัญ

ประสบการณ์นั้นเกิดจากการลงมือทำจริง เรียนรู้จริง หรือเคยให้ปรึกษาในเรื่องนั้นๆ จริงๆ

เปรียบง่ายๆ เหมือนกับว่าผู้พูดมีวัตถุดิบเอามาให้ปรุงแต่งเวลาแชร์ความรู้มากขึ้น เวลาผู้ฟังถามอะไร ก็สามารถอ้างอิงจากสิ่งที่เคยทำมาได้

ยิ่งผู้พูดมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องที่พูดมากแค่ไหน โอกาสที่ประสบการณ์ในการฟังของผู้ฟังจะดีก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

อันนี้ผมเห็นได้ชัดจากสายงานที่ผมอยู่เลย (เกี่ยวกับ Digital Marketing) คือผมรู้สึกว่าเรื่อง Digital Marketing มันพลิกแพลงได้หลายแบบ ไม่มีผิดถูก และความรู้มันเปลี่ยนไว ถ้าไม่ลงมือทำไปด้วย ผ่านไป 6 เดือน 1 ปีความรู้ที่ผมมีมันน่าจะล้าสมัยแน่ๆ

ผมพยายามจะจำกัดการแชร์ความรู้หรือการสอนให้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อเดือน หรืออย่างมากคือไม่เกินเดือนละ 6 ครั้ง เพื่อที่ว่าผมจะได้มีเวลาไปหาความรู้ หาประสบการณ์เพิ่มเติมจากการลงมือทำจริงด้วย

เรียน ทำ สอน เรียน ทำ สอน วนกันไป

12. อย่ากลัวว่าจะรู้ไม่มากพอ

เคยมีคนพูดกับผมหลายคนมากๆ ว่าเขาคิดว่าเขานั้นไม่เก่งพอ รู้ไม่เยอะพอ ไม่กล้าไปสอนใคร ก่อนจะสอนใครเขาคิดว่าเขาต้องเคยทำสิ่งต่างๆ สำเร็จมากๆ ต้องมีนู่นนี่นั่นมารับรองก่อน

คำพูดที่ผมตอบกลับไปเป็นประจำคือ “(มึง) อย่าคิดเยอะ (ดิ)” (ถ้าเป็นเพื่อนจะมีคำในวงเล็บด้วย 😂)

ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ คนที่สอนได้บนโลกใบนี้อาจจะมีแค่ไม่กี่สิบหรือไม่กี่ร้อยคนเองนั้น

ในความเป็นจริงแล้วคุณไม่จำเป็นต้องเป็นปรมาจารย์เพื่อสอนมือใหม่

เปรียบเทียบง่ายๆ คือคุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้ 10 เต็ม 10 เพื่อสอนคนที่รู้ 1-2

คุณรู้แค่ 4-5 ก็เพียงพอแล้ว

สิ่งสำคัญจริงๆ คือคุณต้องรู้ในสิ่งที่คุณแชร์ (หรืออย่างน้อยคือต้องรู้เยอะกว่าผู้ฟัง/ผู้เรียน)

และนอกจากเรื่องความรู้แล้ว ความสามารถในการถ่ายทอดเองก็สำคัญไม่แพ้กัน (เก่งแต่อธิบายไม่รู้เรื่อง สุดท้ายผู้ฟัง ผู้เรียนก็ไม่เข้าใจอยู่ดี)

ไม่ต้องรู้เยอะ แต่ต้องรู้มากเพียงพอและถ่ายทอดได้ดีเพียงพอ

สรุป

และนี่คือบทเรียน 12 ข้อจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่ผมอยากจะเอามาแชร์ให้คนที่อยากแชร์ความรู้ในที่สาธารณะได้รู้นะครับ

เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือมีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติม มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์นะครับ 🙂

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top