10 ข้อคิดที่เรียนรู้จากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของหวงอี้

Featured Image self development lessons from wong yi novels update

ตั้งแต่เล็กจนโต ผมเป็นคอนวนิยายจีนตัวยง ผมจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมทุกครั้งที่พระเอกได้เรียนรู้วิทยายุทธ์ใหม่ๆ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือตัดสินใจที่จะทำอะไรบางอย่าง

ตั้งแต่เริ่มอ่านนวนิยายจีนมา ผมได้ยลผลงานของนักเขียนมากกว่า 10 ท่าน ซึ่งถ้าให้เลือกคนที่ผมชื่นชอบและชื่นชมที่สุดก็คงจะเป็น “หวงอี้

ถึงแม้ว่าตัวคนจะจากไป แต่ผลงานยังคงอยู่ และนี่คือ 10 ข้อคิดที่ผมได้เรียนรู้จากนวนิยายของปรมาจารย์ท่านนี้ครับ

Note: เรื่องที่ผมชอบที่สุดคือเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศและจอมคนแผ่นดินเดือด (รวมกัน 2 เรื่องผมน่าจะอ่านมาไม่ต่ำกว่า 30 รอบได้ ฮา) เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมเขียนถึงจะเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องนี้เป็นหลักและเนื้อหาต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วน บทความนี้ก็เลยเหมาะสำหรับคนที่เคยอ่านแล้วหรือยังไม่เคยอ่านและไม่คิดที่จะอ่านนะครับ

10 ข้อคิดที่เรียนรู้จากนวนิยายของหวงอี้

1. วิทยายุทธ์ที่ไร้เทียมทานหรือจะเทียบแผนการที่เหมาะสม

นี่คือหนึ่งในสิ่งที่ผมชอบที่สุดของหวงอี้ ต่อให้คนคนหนึ่งจะมีวรยุทธ์ที่เก่งกาจแค่ไหนแต่ถ้าเจอใครที่ใช้แผนการตลบหลังก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รอด

ในช่วงต้นๆ ของโค่วจงและฉีจื่อหลิง พวกเขายังไม่เก่งกล้าสามารถมากนัก แต่พวกเขาก็ยังหาญกล้าท้าสู้กับหัวหน้าสมาคมม้าเหล็กเยิ่นเส้าหมิง ซึ่งในขณะนั้นเก่งกว่าพวกเขาหลายขุมนัก ทั้งนี้ทั้งคู่ก็ไม่ได้ทำตัวเป็นทหารกล้าไปตายเอาดาบหน้าขนาดนั้น พวกเขามีการวางแผนเผื่อไว้โดยการขึงเส้นลวดไว้ระหว่างต้นไม้ในเส้นทางที่พวกเขาจะหลบหนี (และเป็นเส้นทางเดียวกับที่เยิ่นเส้าหมิงผ่าน)

ในตอนที่สู้นั้น พวกเขาแทบจะสู้ไม่ได้เลย แต่ในตอนที่คับขันที่สุด ตอนที่พวกเขาทำท่าว่าจะแพ้และหลบหนี พวกเขาก็ได้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ โดยการสังหารเยิ่นเส้าหมิงโดยการใช้เส้นลวดเป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนทิศทาง

พวกเขาทำได้ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะพวกเขาวางแผน วางทางหนีทีไล่ไว้เป็นอย่างดี

แผนการที่ดีจะทำให้คุณสามารถชนะคู่แข่งที่เก่งกว่าคุณได้

2. อยากเก่งต้องห้ามสบาย

ตั้งแต่ผมอ่านนวนิยายของหวงอี้มา ผมยังไม่เคยเห็นตัวละครไหนที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ แต่วิชาไม่ฝึกการศึกไม่สู้รบ แล้วจะเก่งขั้นเทพได้สักตัวละครเลย

หวังเสียนอิ้งในเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศและสุมาหยวนเสียนในเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือดนับเป็นตัวอย่างที่ดี พวกเขาคาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด ความจริงมีโอกาสมากกว่าใครๆ แต่ไม่ยอมตักตวงโอกาสที่ตัวเองได้มาให้เป็นประโยชน์ หยิ่งจองหองและเที่ยวสุราเคล้านารี จนสุดท้ายทั้งคู่ต้องถูกศัตรูคู่แค้นกำจัดไปเพราะไม่เก่งและไม่กร้านโลกเพียงพอ

ถ้าอยากที่จะเก่งจะต้องหาเรื่องให้ตัวเองตลอด ตัวเอกทุกตัวในนวนิยายของหวงอี้ไม่ได้เก่ง ไม่ได้มีพลังอำนาจล้นฟ้ามาตั้งตั้งต้น แต่พวกเขาสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการด้วยตัวเอง

3. อยากเก่งต้องมีศัตรูที่ทัดเทียม

คุณไม่สามารถเก่งขึ้นจากการเอาชนะคนที่อ่อนแอกว่าคุณมากๆ ได้ ถ้าอยากเก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณต้องมีศัตรูที่ทัดเทียม

ผมคิดว่าตัวละครที่โชคดีที่สุดในนวนิยายของหวงอี้คือโค่วจงกับฉีจื่อหลิงเพราะว่าพวกเขาทั้ง 2 คนเป็นทั้งพี่น้องและคู่ฝึกวิชา ถ้าคุณเคยอ่านนิยายเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศมาคุณน่าจะจำได้ว่ามีอยู่หลายครั้งที่พวกเขาเก่งขึ้นจากการตกผลึกและฝึกวิชากัน 2 คน

ข้อควรระวังในข้อนี้คืออย่าสู้กับศัตรูที่เหนือกว่าคุณมากจนเกินไป” 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตอนปาฟงหัน (เพื่อนของโค่วและฉีจื่อหลิง) ท้าสู้ราชันย์บู๊ปี้เสียน (หนึ่งในตัวละครที่เก่งที่สุดในเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศ) และตอนที่เอี้ยนเฟย (พระเอกในเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือด) ท้าสู้กับซุนเอิน (หนึ่งในตัวละครที่เก่งที่สุดในเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือด)

ปาฟงหันกับเอี้ยนเฟยเกือบจะเอาตัวไม่รอดในทุกครั้งที่สู้ (ถ้าไม่ใช่ตัวเอกของเรื่องน่าจะต้องโดนฆ่าตายไปหลายครั้งแล้ว ฮา)

การรู้จักประมาณตนเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การหาคู่แข่งที่ทัดเทียม

4. ทำการใหญ่ใจต้องนิ่ง

จิตใจที่สับสนและวอกแวกจะทำให้คุณตัดสินใจไม่ดี

ถ้านึกถึงคำว่าทำการใหญ่ใจต้องนิ่งบุคคลแรกๆ ที่ผมนึกถึงคือเซี่ยเสียนในเรื่องจองคนแผ่นดินเดือด

ในครั้งนั้นเฉียนฉินอ๋องฝูเฉียนยกทัพมาร้อยหมื่นเพื่อบุกตีราชวงศ์จิ้นให้ย่อยยับ ซึ่งทางฝ่ายของแม่ทัพใหญ่เซี่ยเสียนมีกำลังพลเพียงแค่ 8 หมื่น 

กำลังพลต่างกันมากกว่า 10 เท่า

แต่สุดท้ายเซี่ยเสียนก็ใช้แผนการอันแยบคายและกำลังพลเพียงแค่ 8 หมื่นบุกตีทัพร้อยหมื่นของเฉียนฉินอ๋องให้ย่อยยับได้

ซึ่งผมคิดว่าในครั้งนั้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าแผนการอันแยบคายคือจิตใจอันแน่วแน่และไม่ตื่นตระหนกตกใจกับปัญหาที่ต้องเจอ

ในชีวิตการทำงานหรือการทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ยิ่งคุณหวังสูง ฝันใหญ่เท่าไหร่ จิตใจคุณจะยิ่งต้องนิ่งมากเท่านั้น 

ผมคิดว่าการทำจิตใจให้นั่งนั้นพูดง่ายแต่ทำยากและไม่ใช่ทุกคร้ังหรือทุกสถานการณ์ที่จะสามารถทำได้ (โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ยาก และบีบคั้น) แต่ในบางครั้งในฐานะผู้รับผิดชอบหรือผู้นำคุณต้องแสดงออกถึงความมั่นใจออกมา เพื่อที่จะทำให้ทีมงานหรือคนที่อยู่ในบังคับบัญชาของคุณรู้สึกมั่นใจและสู้เต็มที่ร่วมไปกับคุณ

ผมมีหนึ่งวิธีในการสงบจิตใจให้นิ่งขึ้นซึ่งวิธีนั้นก็คือ “การนั่งสมาธิถ้าคุณรู้สึกว่าจิตใจคุณไม่อยู่กับเนื้อกับตัวหรือวอกแว่กบ่อย ลองดูนะครับ ผมว่าช่วยได้

5. ยิ่งฝันใหญ่เท่าไหร่ สิ่งที่ต้องเสียสละต้องมากเท่านั้น

ความฝันอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความเสียสละอันใหญ่ยิ่ง

เมื่อคุณมีสิ่งที่คุณต้องการและอยากได้มากๆ ยิ่งสิ่งนั้นยิ่งใหญ่เท่าไหร่ สิ่งที่คุณต้องเอาไปแลกนั้นจะยิ่งมีมูลค่ามากขึ้นสำหรับคุณเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นหลิวอวี้ในเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือดที่ต้องเลือกระหว่างเส้นทางการเป็นฮ่องเต้กับการทิ้งทุกอย่างเพื่อไปช่วยเหลือหญิงคนรัก

ถ้าจะเป็นฮ่องเต้ ต้องสละให้หวังต้านเจินซึ่งเป็นหญิงคนรักและเป็นหญิงผู้สูงศักดิ์ตกไปอยู่ในมือศัตรูอย่างหวนเสียน

ถ้าจะเลือกหญิงคนรัก ก็ต้องสละเส้นทางการเป็นฮ่องเต้ (ถ้าคนธรรมดาร้านถิ่นอย่างหลิวอวี้ตัดสินใจเลือกหวังต้านเจิน เขาจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลชั้นสูงอีกต่อไป เพราะจะถูกมองว่าเป็นหมาวัดคิดกินเนื้อห่านฟ้า)

สุดท้ายถึงแม้ว่าหลิวอวี้เลือกหวังต้านเจินแต่ก็โดนเซี่ยเสียนที่เปรียบเสมือนเจ้านายมาเกลี้ยกล่อมและแจกแจงผลดีผลเสียให้หลิวอวี้ฟัง จนสุดท้ายหลิวอวี้เปลี่ยนใจปล่อยหวังต้านเจินไป และหันมามุ่งมั่นกับวิถีราชันย์แทน ซึ่งผลลัพธ์จากการตัดสินใจครั้งนี้คือ 1. ทำให้หลิวอวี้มีโอกาสในการเป็นฮ่องเต้อยู่ 2. แต่หวังต้านเจินต้องพลีกายให้หวนเสียนผู้เป็นศัตรูและตัดสินใจกลืนยาพิษฆ่าตัวตาย

นอกจากเหตุการณ์นี้แล้วยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่หลิวอวี้ต้องทำการเสียสละความสุขของตัวเอง ความสุขของคนที่รัก เพื่อเป้าหมายในการเป็นฮ่องเต้

สำหรับตัวผมเอง ผมคิดว่าการมักใหญ่ใฝ่สูงเป็นเรื่องที่ดี แต่การมักใหญ่ใฝ่สูงเกินไปไม่ใช่ เพราะสุดท้ายแล้วอะไรที่มักมากไปมันก็คงจะไม่ดี และถ้าการเลือกหรือตัดสินใจนั้นๆ จะกระทบกับคนที่ผมแคร์ คนที่ผมรัก ด้วยแล้ว ผมคิดว่ามันคงไม่ดีที่การตัดสินใจของผมจะทำให้พวกเขาต้องเสียสละอะไรอย่างมากมายไปด้วย

6. ขี่หลังเสือแล้วห้ามลง ถ้าลงจะถูกเสือจับกิน

บางทางเลือก เมื่อคุณเลือกแล้ว คุณหันหลังกลับไม่ได้

ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ของหลิวอวี้ เมื่อเขาเลือกเส้นทางสู่การเป็นฮ่องเต้แล้ว เขาไม่สามารถหันหลังกลับได้เพราะ 1. เขาเสียสละอะไรมามากมายเกินกว่าจะปล่อยให้ความฝันการเป็นฮ่องเต้นั้นหลุดลอยไป 2. ถ้าเขาแพ้หรือไม่อยากเป็นฮ่องเต้เมื่อไหร่ เพื่อนพ้อง ลูกน้อง ตลอดจนทีมงานของพวกเขาก็จะแพ้หรือล้มตายไปเช่นเดียวกันกับเขา หลายครั้งหลายคราที่หลิวอวี้รู้สึกอยากล้มเลิก หรือรู้สึกเสียใจกับเส้นทางนี้ แต่เขาต้องไปต่อเพราะสำหรับเขาแล้ว นั่นเป็นทางเลือกเดียวที่เขาเหลืออยู่

เมื่อเทียบกันกับโค่วจงซึ่งฝันเป็นฮ่องเต้เหมือนกันแล้ว โค่วจงโชคดีกว่านักเพราะโค่วจงสามารถปล่อยวางได้ดีกว่าและศัตรูของโค่วจง (หลี่ซื่อหมิ่นหรือถังไท่จงฮ่องเต้) นั้นเป็นคนเก่งและคนดี พอโค่วจงล้มเลิกฝันการเป็นฮ่องเต้ เขาก็ได้โอนเปลี่ยนความฝัน ความคาดหวัง และทีมงานไปให้กับหลี่ซื่อหมิ่น (ซึ่งอยากเป็นฮ่องเต้เหมือนกัน) แทน 

ข้อคิดในเรื่องนี้ก็คือก่อนที่คุณจะคิดหรือตัดสินใจเลือกเส้นทางการเดินของคุณ ต้องคิดให้ดีๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ขี่หลังเสือแล้ว ถ้าคุณคิดจะลงจากหลังเสือ โอกาสถูกจับกินก็จะมีสูง

7. เหนือกว่ามีดาบคือไร้ดาบ

ในเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศ ในช่วงแรกที่โค่วจงใช้ดาบจันทร์ในบ่อนั้นเขามีกระบวนท่ามากมายหลากหลาย ซึ่งเขาต้องฝ่ายการใช้ดาบและสู้รบปรบมือกับศัตรูอีกมากมายกว่าจะเข้าถึงขั้นไร้ดาบเหนือกว่ามีดาบได้ ซึ่งหมายความว่าเขาไม่ได้ยึดติดกับกระบวนท่าใดๆ ของการใช้ดาบอีกต่อไป

ทั้งนี้หลังจากขั้นไร้ดาบไปแล้ว โค่วจงยังเข้าใจและสามารถบรรลุถึงวิทยายุทธ์ขั้นที่เหนือกว่าเดิมได้นั่นก็คือขั้นมีดาบและไร้ดาบซึ่งหมายความว่าเมื่อไหร่ก็ตามถ้าต้องใช้ดาบก็ให้ใช้ เมื่อไหร่ที่ไม่ต้องใช้ก็ไม่ต้องใช้ มีดาบก็ได้ ลืมเลือนดาบก็ดี ทุกอย่างปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

หลักการนี้สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้เช่นเดียวกัน ในช่วงที่คุณฝึกอะไรใหม่ๆ ในช่วงแรกนั้น คุณอาจจะต้องทำตามระเบียบแบบแผนและแนวคิดที่มีมาในอดีตก่อน จนกระทั่งคุณฝึกทักษะนั้นๆ จนเชี่ยวชาญมากพอ คุณจึงสามารถแหกกฏที่เคยมีมาและสร้างสรรค์ผลงานที่ดีกว่าออกมาได้

ก่อนที่จะแหกกฏ คุณต้องเชี่ยวชาญกฏก่อน (To break the rules, you must first master them – Audemars Piguet)

และเมื่อคุณเชี่ยวชาญมากพอแล้ว คุณจะรู้ว่าเมื่อไหร่คุณจะต้องเล่นตามกฏและเมื่อไหร่ที่คุณจะต้องแหกกฏ

8. ต่างคนต่างใจและต่างความฝัน

คนทุกคนต่างมีความคิดและเหตุผลเป็นของตัวเอง

ในนวนิยายของหวงอี้นั้น มีตัวละครอยู่หลายตัวที่เลวสนิท ความหมายคือตัวละครนั้นไม่มีด้านดีเลยในมุมมองที่เล่าออกมาผ่านทางหวงอี้ แต่ทั้งนี้ก็จะมีตัวละครอีกหลายตัวเช่นกันที่ไม่ขาว ไม่ดำ ถ้ามองในมุมของของฝั่งตัวเอก

สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะเรามองจากมุมมองของฝั่งตัวเอก แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมกลับปรับมุมมอง คิดจากมุมของตัวละครนั้นๆ ดู เราจะเห็นถึงเหตุผลของการกระทำแต่ละอย่างของตัวละครนั้นๆ 

เช่นในเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศ ถูลี่ ผู้เป็นบุคคลอันดับ 2 ของประเทศถูเจี๋ย แกล้งยกพลมาช่วยโคว่จงกับฉีจื่อหลิงช้า (ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนตายกัน) เพราะเห็นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ไม่อยากให้พันธมิตรของเขาบอกว่าเขาเป็นฝ่ายเดียวกับโคว่จงกับฉีจื่อหลิง (แรกๆ โค่วจงก็โกรธ แต่ผ่านไปสักพักก็เข้าใจความลำบากใจของถูลี่)

หรือในเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือดที่เยิ่นชิงซื่อทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนพี่ชายที่ชื่อว่าเยิ่นเหยาเพื่อทำให้เยิ่นเหยากลับมาทวงบรรลังก์ฮ่องเต้ได้อีกครั้ง ซึ่งการกระทำหลายอย่างๆ ของเยิ่นชิงซื่อก็ทำให้ตัวเอกอย่างหลิวอวี้เกือบจะไม่รอดอยู่หลายครั้ง (แต่สุดท้าย หลังจากที่เยิ่นเหยาตายไป หลิวอวี้ก็เปิดรับเยิ่นชิงซื่อมาเป็นพันธมิตร เพราะหลิวอวี้เข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมในอดีตเยิ่นชิงซื่อต้องทำแบบนั้น และที่สำคัญหลิวอวี้เข้าใจว่าเยิ่นชิงซื่อจะเป็นประโยชน์กับเขาต่อไปในอนาคตได้ยังไง)

สิ่งที่ผมเรียนรู้มาในข้อนี้ก็คือจริงๆ แล้วคนทุกคนล้วนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มองทุกอย่างผ่านประสบการณ์และความคิดของตัวเอง ซึ่งหลายๆ ครั้งถ้าเราเผลอใช้สายตาของเราไปครอบการกระทำของคนอื่นมากเกินไป เราอาจจะไม่เห็นด้วยหรือผิดหวังก็เป็นได้

แน่นอนว่าเราเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ การที่ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางก็คงทำได้ยาก แต่อย่างน้อยก่อนที่จะคิดหรือตัดสินอะไร ถ้าลองพยายามคิดและมองจากในมุมของคนคนนั้นด้วย มันจะทำให้เราเข้าใจเขามากยิ่งขึ้นและจะสามารถรู้ว่าเราจะต้องตอบสนองกับคนคนนั้นยังไง

9. ศิลปะแห่งการเล่าเรื่องมีคุณค่ามากกว่ากองทัพร้อยหมื่น

หลิวอวี้จมเรือมังกรซ่อน ประจวบกับหินไฟตกจากฟ้า

เพียงวลีธรรมดาๆ จากจั่วขวงเซิงผู้ซึ่งเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งที่สุดในเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือดนั้นทำให้หลิวอวี้ถูกมองว่าเป็นโอรสสวรรค์และทำให้ได้รับการยอมรับ ความเชื่อมั่น และความช่วยเหลือจากคนมากมาย เทียบกันแล้วยังมีคุณค่ามากกว่ากองทัพร้อยหมื่นซะอีก

หลิวอวี้เปรียบเสมือน Brand (ซึ่งหลิวอวี้มี Branding ที่ดี ถูกมองว่าเป็นคนเก่งกล้าสามารถและไต่เต่าตัวเองจากตำแหน่งล่างสุด) ส่วนวลีดังกล่าวนั้นเปรียบเสมือนการทำ Storytelling ผูกและโยงใยเรื่องราวเข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่งเมื่อ Brand ผสานรวมกับการทำ Storytelling ที่ดีแล้วมันจะมีคุณค่ากว่าเม็ดเงินโฆษณา (กองทัพร้อยหมื่น) ที่ลงไปซะอีก

เพราะฉะนั้นข้อคิดที่ได้รับจากข้อนี้ก็คือ Brand ที่ดีถ้ามีการทำ Storytelling ที่ดีด้วยจะทรงพลังมากกว่าการใช้เงินฟาดซื้อโฆษณามากมายครับ

10. ทุกสิ่งไม่จีรัง ล้วนผุพังตามเวลา

เมืองเปียนฮวนเป็นเขตแดนร้างซึ่งเป็นที่กันชนระหว่างแผ่นดินใต้ของชนชาติฮั่นและแผ่นดินเหนือของชนเผ่านอกด่าน ซึ่งเมืองเปียฮวนนั้นเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดตามความรุ่งโรจน์ของหลิวอวี้ (ฮ่องเต้ของราชวงศ์ใต้) และทัวปากุย (ฮ่องเต้ของราชวงศ์เหนือ)

แต่ความเจริญรุ่งเรืองนั้นมีอยู่เพียงแค่ไม่กี่สิบปี ซึ่งผู้ที่ทำลายเมืองเปียนฮวนไปก็เป็นหลิวอวี้และทัวปากุยนั่นเอง เพราะพวกเขา ต่างฝ่าย ต่างก็ต้องการรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่ง

สุดท้ายสิ่งที่เหลือไว้ของเมืองเปียนฮวนก็เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าจากจั่วขวงเซิงเท่านั้นเอง

มีขึ้นก็ต้องมีลง มีรุ่งก็ต้องมีร่วง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนตัวผมเอง ผมเข้าใจเรื่องนี้ แต่ในหลายๆ ครั้งก็ทำใจให้ยอมรับไม่ได้สักเท่าไหร่ ก็คงได้แต่หวังว่าอายุที่มากขึ้น พร้อมกับเวลาที่น้อยลงของผมจะทำให้ผมปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นนะ 🙂

สรุป

และนี่ก็คือ 10 ข้อคิดที่ผมได้เรียนรู้จากนวนิยายของหวงอี้นะครับ

สำหรับนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้น หลายๆ อย่างเกิดขึ้นจริง หลายๆ อย่างเกิดจากจินตาการของผู้แต่ง ซึ่งถ้าคุณสามารถศึกษา เรียนรู้ และตกผลึกจากเรื่องจริงและจินตนาการผมคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์มากๆ เลยครับ

คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อคิดของผม หรือคุณมีข้อคิดอะไรอยากจะเสริม มาพูดคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top