Biological Prime Time เทคนิคการทำงานให้ถูกเวลา ตามหานาทีทองที่ใช่คุณ

Featured Image biological prime time

“นกที่ตื่นเช้า ย่อมจับหนอนได้ก่อนใคร”

คุณคิดว่าประโยคนี้จริงไหมครับ?

ส่วนตัวผมคิดว่า อาจจะไม่ค่อยจริงสักเท่าไร คนที่ตื่นเช้ากว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้ดีกว่า ในทางกลับกัน คนที่ตื่นทีหลังก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้แย่

เพราะเราต่างก็มี ‘เวลาพีค’ หรือชั่วโมงของการทำงานที่ดีที่ ‘ต่างกัน’

ในบทความนี้ ผมจะมาแชร์เทคนิค Biological Prime Time เทคนิคในการตามหา ‘ช่วงเวลาทอง’ ของการทำงานที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากๆ ให้คุณได้รู้จักกันครับ

Biological Prime Time คืออะไร?

Biological Prime Time หรือ BPT ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในหนังสือ Work the System ของคุณ Sam Carpenter หมายถึง ‘ช่วงเวลาที่คุณสามารถทำงานได้อย่างมีโฟกัส และโปรดักทีฟมากที่สุด’ โดยมันก็จะแตกต่างกันออกไปตามร่างกาย และนาฬิกาชีวิตของแต่ละคน

แต่บอกก่อนว่า ไอ้เจ้านาฬิกาชีวภาพนี้ทำงานเป็นวงจรหรือรอบนะครับ ซึ่งโดยปกติ 1 วงจรจะอยู่ที่ประมาณ 90-120 นาที หรือตกประมาณชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง

แล้วเราจะหา Biological Prime Time ได้ยังไง?

1. สร้างตารางตามหา BPT

เปิดโปรแกรม Excel ขึ้นมา สร้างไฟล์ใหม่แล้วแบ่งตารางแนวนอนออกเป็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ แบ่งตารางแนวตั้งออกเป็นสล็อตช่วงเวลาต่างๆ ตลอดทั้งวัน เพิ่ม 4 ช่องย่อย ได้แก่ Energy, Focus, Motivation และ Creativity ในทุกๆ ช่วงเวลาที่แบ่งไว้ก่อนหน้า จากนั้น สร้างช่องผลรวม และค่าเฉลี่ยแล้วใส่สูตรคำนวณผลลัพธ์ลงไป

แต่สำหรับใครที่ขี้เกียจทำ ผมมีไฟล์สำเร็จมาให้แล้ว คุณสามารถลองเข้าไปโหลดมาใช้กันได้ 👉 Biological Prime Time Calculator (จากเว็บไซต์ Make Use Of)

2. ติดตาม และประเมินระดับพลังงาน

เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ถึงตาคุณแล้วครับ ประเมินระดับ Energy, Focus, Motivation และ Creativity ในแต่ละช่วงเวลา ให้คะแนนตัวเอง 1-10 จากความรู้สึก โดย 1 แทนระดับพลังงานที่ต่ำที่สุด ส่วน 10 แทนระดับพลังงานที่สูงที่สุด ทีนี้ก็จดลงไปในแต่ละช่องของแต่ละช่วงเวลา

ซึ่งคุณก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติเลย เพียงแต่แค่หาเวลามาจดสักหน่อยก็เท่านั้นเอง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 20 วัน แต่ถ้าจะมากกว่านี้ก็ยิ่งดีเลยครับ เพราะยิ่งคุณมีข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาเยอะมากเท่าไร BPT ของคุณก็ยิ่งมีโอกาสจะแม่นมากขึ้นตามไปด้วย

แต่โน้ตไว้นิดหนึ่งว่า อาจจะต้องหลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ด้วยนะครับ เพราะพวกของเหล่านี้มักจะไปรบกวนการนอน และการทำงานของเรา รวมไปถึงลองพยายามไม่ใช้นาฬิกาปลุก ปล่อยให้ตัวเองได้ตื่นนอนตามธรรมชาติ และหลับลงเมื่อง่วงจริงๆ เพื่อเรียนรู้นาฬิกาชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

3. หาค่าเฉลี่ยระดับพลังงานเพื่อสรุป BPT

พอจดได้ครบหมดแล้ว ทีนี้คุณเอาตัวเลขในแต่ละช่วงเวลามาหาค่าเฉลี่ย ดูว่า ช่วงเวลาไหนที่ Energy, Focus, Motivation และ Creativity ของคุณมีค่าเฉลี่ยสูงสุด และนั่นแหละครับคือ ‘BPT หรือช่วงเวลาทองในการทำงาน’ ของคุณ

สรุป

และนี่ก็คือวิธีการหา BPT ง่ายๆ ที่ผมนำฝากคุณ ลองเอาไปทำตามกันดู แล้วถ้าคุณเจอ BPT ที่ดีที่สุดของตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมมาแชร์คุยกันในคอมเมนต์นะครับ 🙂

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top