ทำอย่างไรที่จะเก็บ Input ที่ดีเข้าสมองให้ได้มากๆ?

Featured Image Power of input 1

อาหารที่คุณกินจะเป็นตัวกำหนดสุขภาพของคุณ

หนังสือที่คุณอ่านจะเป็นตัวกำหนดความรู้ของคุณ

เพื่อนที่คุณชอบใช้เวลาด้วยจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของคุณ

Input ต่างๆ ที่คุณได้เก็บมาล้วนนำไปสู่ Output ในแบบที่ต่างกัน ถ้าคุณเก็บ Input ที่ดีได้มาก การสร้าง Output ของคุณก็จะดีและมากตาม

คำถามก็คือ ทำอย่างไรที่จะเก็บ Input ที่ดีๆ ได้มากๆ?

ในบทความนี้ผมมีเคล็ดลับ 6 ข้อจากหนังสือเรื่อง The Power of Input มาสรุปให้คุณได้อ่านครับ

รับรองว่าพออ่านจบแล้วเอาไปปรับใช้ คุณจะเก็บ Input ดีๆ ได้มากขึ้นอย่างแน่นอนครับ!

Note: ผมเคยเขียนบทความ “อยากทำสิ่งต่างๆ (สร้าง Output) ให้ได้มากๆ ต้องทำอย่างไร?” ไว้ ถ้าอ่านบทความนี้จบแล้ว ก็ไปอ่านบทความการสร้าง Output ต่อได้นะครับ

6 วิธีการสร้าง Input ที่ดีให้ได้มากๆ

1. คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

ในการสร้าง Input นั้น คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

เปรียบเทียบกันระหว่างการที่คุณอ่านหนังสือได้เป็นสิบๆ เล่มต่อเดือน แต่คุณจำและเอาอะไรไปใช้ต่อได้ไม่เลย กับการที่คุณอ่านหนังสือได้แค่ 1 เล่มต่อเดือน แต่คุณจำและเอาหลักคิดหรือวิธีการในหนังสือเล่มนั้นไปใช้งานต่อได้

การอ่านหนังสือแค่ 1 เล่มต่อเดือนแต่ใช้ได้จริงนั้นช่วยเก็บ Input ให้คุณได้ดีกว่าการอ่านเป็นสิบๆ เล่มแต่จำอะไรไม่ได้เลยครับ

2. เก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็น

วันวันนึงคุณมีโอกาสเก็บ Input มากมายหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น Input ประเภทความรู้ Input ที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณ หรือ Input ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณเลยอย่างเช่นข่าวคราวดราม่า

สิ่งที่คุณควรทำก็คือการสร้างตระแกรงขึ้นมา และใช้ตระแกรงอันนี้เป็นตัวช่วยในการกรองข้อมูลที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้ออกไป

ซึ่งการจะสร้างตระแกรงเหล่านี้ขึ้นมา คุณต้องสร้าง “เสาอากาศ” ของการเก็บข้อมูลครับ

วิธีการง่ายๆ เลยคือให้คุณคิด Keyword ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คุณสนใจ (และเป็น Input ที่ดีกับชีวิตของคุณ) มาสัก 3 อย่าง

เช่นถ้าของผมก็อาจจะเป็น Business, Productivity & Tech และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เสาอากาศของผมก็จะหันเข้าไปหาเรื่องเหล่านี้โดยอัตโนมัติครับ

3. พยายามเก็บ Input อย่างตั้งใจ

การเก็บ Input คือการเก็บรวบรวมความรู้ความเข้าใจในสมองของคุณ ซึ่งการจะทำให้คุณสามารถจำและเก็บ Input ที่คุณใส่เข้าไปในสมองได้นั้นคุณต้อง อ่าน ฟัง หรือดู อย่างตั้งใจ ห้ามอ่าน ฟัง หรือดู แค่ผ่านๆ

ถ้าคุณอ่านหนังสือ คุณต้องไม่สนใจเรื่องอื่น

ถ้าคุณฟัง Podcast หูของคุณต้องมุ่งความสนใจไปในเนื้อหาเรื่องนั้นๆ (แต่ในขณะเดียวกันคุณอาจจะทำกิจกรรมอื่นอย่างเช่นออกกำลังกายหรือขับรถไปด้วย)

ถ้าคุณนั่งเรียนคอร์สออนไลน์ คุณต้องไม่ทำงานอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย

เพราะถ้าคุณเก็บ Input แบบผ่านๆ Input เหล่านั้นก็จะถูกส่งผ่านออกจากสมองของคุณไปเช่นเดียวกัน

4. กำหนด Output ไว้ล่วงหน้า และลงมือทำมัน

อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คุณพยายามเก็บ Input ที่ดีออกมาคือการกำหนด Output ที่คุณต้องการไว้ล่วงหน้าครับ

เช่นกำหนดไว้ล่วงหน้าเลยว่าถ้าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณจะสรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นบทความ

หรือกำหนดไว้ล่วงหน้าเลยว่าถ้าคุณเรียนเรื่องนี้จบ คุณจะอัดคลิปลงบน YouTube เพื่อสอนคน

ถ้าคุณตั้งเป้าไว้แบบนี้แล้ว แทนที่คุณจะเก็บ Input ผ่านๆ คุณก็จะโฟกัสและพยายามจับประเด็นของ Input นั้นๆ มากขึ้น

สำหรับข้อนี้ ผมลองด้วยตัวเองมาแล้ว และก็พบว่าจริงมากๆ ครับ ตัวอย่างจากหนังสือเรื่อง The Power of Input เลย คือผมตั้งเป้าก่อนอ่านว่าผมจะเอาเรื่องนี้มาสรุปลงบล็อกของผม มันก็เลยทำให้ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบเร็วขึ้นและจับประเด็นที่น่าสนใจที่น่าเอามาเขียนลงบล็อกได้ดีขึ้นครับ

5. Feedback Loop

เรื่องการขอ Feedback นี้เป็นหัวข้อที่ต่อจากข้อที่แล้ว

เมื่อคุณเก็บ Input และทำ Output แล้ว สิ่งสำคัญถัดมาคือคุณต้องขอรับ Feedback จากคนที่รับ Output จากคุณไปด้วย

ถ้าเป็นบล็อก คุณก็อาจจะขอให้คนมาคอมเมนต์ให้ความเห็น

ถ้าเป็นคลาสเรียน คุณก็อาจจะขอให้คนทำแบบสอบถามเพื่อประเมินคลาสของคุณ

และจากนั้นคุณก็เอา Feedback ที่ได้มา มาเป็นตัวช่วยบอกคุณต่อว่าคุณจะเลือกเก็บ Input แบบไหนเข้ามาเพิ่มเติมอีก และคุณต้องมีการปรับปรุง Output ของคุณยังไง

เก็บ Input >> ทำ Output >> รับ Feedback และทำ 3 ขั้นตอนนี้ซ้ำๆ

6. ข้อยกเว้นของการเก็บ Input

จากข้อ 4 และข้อ 5 ผมได้เขียนบอกไว้ว่าการจะทำให้คุณจำ Input ได้นั้น คุณต้องทำ Output

แต่มีข้อยกเว้นหนึ่งอย่างที่คุณไม่จำเป็นต้องทำ Output แต่คุณก็จะยังจำ Input ที่คุณเก็บมาได้ ซึ่งข้อยกเว้นนั้นคือการทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่กระตุ้นความรู้สึกให้เกิดอารมณ์ต่างๆ เช่นการดูอ่านการ์ตูนเป็นเล่มๆ ที่มีโครงเรื่องน่าสนใจ หรือการดูหนังที่มีบทที่ซาบซึ้งติดตรึงใจ

คุณลองคิดถึงการ์ตูนหรือหนังเรื่องโปรดของคุณดูได้ครับ ว่าคุณสามารถจำและเล่าฉากสำคัญๆ ออกมาได้เป็นเรื่องๆ เลยรึเปล่า?

ซึ่งผมมั่นใจว่าคุณทำได้ครับ 🙂

สรุป

และนี่คือ 6 วิธีการที่จะช่วยให้คุณสามารถเก็บ Input ได้ดีขึ้นนะครับ ลองเอาไปทำดู ได้ผล ไม่ได้ผลยังไง มาแชร์ให้ผมได้รู้ต่อด้วยนะครับ 🙂

Note: คุณเก็บ Input เพื่อเอาไปสร้าง Output ที่ดีออกมา ลองเข้าไปอ่านบทความที่ว่าด้วยเรื่องการสร้าง Output ที่ดีให้ได้มากๆ ได้ที่นี่ครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top