รู้จักกับหลักการ 80/20: ทำน้อยแต่ได้มาก

Featured Image productivity pareto principle update

คุณเคยเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ในชีวิตบ้างไหม?

ลูกค้าที่สร้างรายได้ให้กับคุณเกือบทั้งหมด มาจากลูกค้าแค่ไม่กี่คน

สินค้าที่คุณขายได้เกือบทั้งหมด มาจากสินค้าแค่ไม่กี่รูปแบบ

ยอดขายเกือบทั้งหมด มาจากนักขายมือทองในบริษัทแค่ไม่กี่คน

และเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ฟังดูแล้วมันอาจจะขัดใจคุณ (คุณลงทุน ลงแรง ไปตั้งมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์จริงๆ กลับเป็นของหรือคนเพียงแค่หยิบมือเดียว)

ผมแค่จะบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้แปลกครับ สิ่งที่คุณพบเจออยู่นี้เป็นไปตามหลักการ 80/20 ของ Pareto ครับ

รู้จักกับหลักการ 80/20 ของ Pareto

pareto graph
รูปจาก BetterExplained

หลักการของ Pareto กล่าวไว้ว่า ผลลัพธ์ประมาณ 80% นั้นมักจะมาจากเหตุการณ์หรือการกระทำอะไรบางอย่างแค่ 20%

ไอเดียที่คุณคิดมา 5 อย่าง อาจจะมีแค่ 1 อย่างที่เวิร์ค

ของที่คุณทำขึ้นมา 10 ชนิด อาจจะมีแค่ 2 ชนิดที่ขายดี

บทความที่คุณลงมือเขียนกว่า 100 บทความ อาจจะมีแค่ 10-20 บทความที่คนอ่านเยอะ (อันนี้เป็นจริงมากๆ สำหรับบล็อกของผม sitthinunt.com ฮา เพราะ ณ ปัจจุบัน ผมมีบทความในเว็บกว่า 70 บทความ แต่ในที่ปีที่แล้ว บทความที่มีคนอ่านมากกว่า 5,000 คน มีแค่ 7 บทความเท่านั้น)

ทั้งนี้หลักการ 80/20 นั้นไม่ได้บอกว่าทุกสิ่งจะเกิดตามสัดส่วนนี้เป๊ะ แต่ Pareto ต้องการจะสื่อว่า Input ของคุณ (ไม่ว่าจะเป็นแรงเงิน แรงงาน หรือความพยายาม) กับผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะไม่เท่ากันอยู่เสมอๆ

รู้จักกับหลักการของ Pareto แล้ว จะเอาหลักการนี้ไปใช้กับการทำงานหรือการใช้ชีวิตได้ยังไงบ้าง?

อย่างแรกเลย ผมแนะนำให้คุณลองกลับไปไล่ดูสิ่งสำคัญของชีวิตคุณครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องชีวิต ความสัมพันธ์ และครอบครัว

ไปดูว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ในปัจจุบันนั้นอะไรที่ให้ผลลัพธ์กับคุณมากที่สุดโดยที่คุณใช้แรง (งานและเงิน) น้อยที่สุด และสิ่งไหนที่ให้ผลลัพธ์กับคุณน้อยที่สุด โดยที่คุณใช้แรง (งานและเงิน) มากที่สุด

Note: ทั้งนี้ เรื่องบางเรื่องเช่นความสัมพันธ์และครอบครัว มันก็ตีค่าผลลัพธ์เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ขนาดนั้น ถ้าจะวัดเรื่องผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่ดีคือการที่คุณรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายแน่นแฟ้นขึ้น หรือคุณและอีกฝ่ายมีความรู้สึกดีๆ ต่อกันมากขึ้นครับ

จากนั้นก็พยายามเลือกตัดสิ่งที่ใช้แรงเยอะแต่ให้ผลน้อยลง และเพิ่มสิ่งที่ใช้แรงน้อยแต่ให้ผลเยอะให้มันมากขึ้น

ว่าง่ายๆ คือพยายามทำสิ่งที่ “Low Input but High Output”

no thanks were too busy
รูปจาก Steenschledermann

พยายามอย่าทำตัวเหมือนมนุษย์ยุคหินทางด้านบนที่ยุ่งกับการทำสิ่งต่างๆ (ในที่นี้คือขนของด้วยล้อสี่เหลี่ยม) จนลืมหันกลับมามองสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า (ในที่นี้คือล้อกลม)

สรุป

แน่นอนว่าการเลือกตัดบางสิ่งและเลือกทำบางอย่าง มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในชีวิตจริง แต่ถ้าคุณเอาหลักการของ Pareto ไปใช้ พยายามคิดถึงหลักการทำน้อยแต่ได้มากในทุกครั้งของการตัดสินใจ ผมเชื่อว่าคุณจะเลือกได้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top