ออกหนังสือเล่มนึงได้เงินเท่าไหร่? ขั้นตอนการออกเป็นยังไงบ้าง? ทำเองหรือทำกับสำนักพิมพ์ดีกว่า? เดี๋ยวผมจะมาแชร์ให้อ่านในบทความนี้ครับ
—
ผมมีโอกาสได้ออกหนังสือมา 2 เล่มแล้ว เล่มล่าสุดคือ How to Grow Your Service Business: Up ธุรกิจให้ได้ 8 หลัก และเล่มแรกคือ Inbound Marketing: การตลาดแบบแรงดึงดูด ที่เขียนร่วมกับพาร์ทเนอร์อีก 2 คน (ไปอุดหนุนทั้งสองเล่มกันได้นะครับ 🙂)
ในบทความนี้ผมจะมาเขียนรีวิววิธีการและขั้นตอนในการออกหนังสืออย่างละเอียด
ถ้าคุณอยากแปลงประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ออกมาเป็นหนังสือให้กับผู้คนได้อ่าน ขั้นตอนในบทความนี้จะช่วยให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นนะครับ
Note: ออกตัวไว้ก่อนว่า ผมพึ่งออกหนังสือมาแค่ 2 เล่ม กับแค่ 1 สำนักพิมพ์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมแชร์มันอาจจะไม่ครอบคลุม และใช้ได้กับทุกสถานการณ์ อ่านจบแล้ว ต้องไปพิจารณาทางเลือกต่างๆ ของคุณต่อด้วยนะครับ
ทางเลือกในการออกหนังสือ
พิมพ์เอง ขายเอง
ข้อดีของการพิมพ์ขายเองคือ “กำไร” ขายได้เท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น ถ้าคุณเป็นคนที่มีชื่อเสียง ทำหนังสือได้น่าสนใจ หรือขายเก่ง คุณจะได้กำไรเยอะ นอกจากนั้นแล้วคุณยังมีอิสระในการคิด การเขียน อีกด้วย อยากเขียนเรื่องอะไร อยากขายราคาเท่าไหร่ ก็ตามใจคุณ
แต่ข้อด้อยคือ ต้องลงแรงเยอะ และต้องลงทุนไปเองก่อน ต้องผลิต โปรโมต ขาย และส่งเอง ความเสี่ยงจะตกที่ตัวคุณ ถ้าขายไม่ได้ตามที่คาดหวัง คุณเองก็ต้องแบกรับต้นทุกต่างๆ ไว้เอง
* แนะนำว่าถ้าคุณเลือกทางนี้ คุณไม่ควรจะทำเองทุกอย่าง ผมคิดว่าส่วนที่คุณควรพิจารณาทำเองจริงๆ คือในส่วนของการเขียนและการโปรโมต ส่วนของการจัดรูปเล่ม การออกแบบ การติดต่อประสานงานกับฝ่ายต่างๆ คุณสามารถจ้างคนมาช่วยได้ครับ
พิมพ์กับสำนักพิมพ์
มีสำนักพิมพ์หลายสำนักที่คุณสามารถออกหนังสือด้วยได้เช่นอมรินทร์ ซีเอ็ด และอื่นๆ อีกหลายที่
ข้อดีของการพิมพ์กับสำนักพิมพ์คือพวกเขายังช่วยบริหารจัดการให้คุณตั้งแต่การผลิต โปรโมต ขาย และส่ง ซึ่งพวกเขาจะมีช่องทางการจัดจำหน่ายเยอะมาก (พอพิมพ์ได้ไม่กี่วัน ปรากฏว่าไปอยู่ในร้านหนังสือทั่วประเทศแล้ว) นอกจากนั้นแล้วพวกเขายังมีประสบการณ์นการขาย ซึ่งจะให้คำแนะนำคุณได้ว่าปกแบบไหน เนื้อหาแบบไหนถึงขายดี
แต่ข้อด้อยคือคุณไม่สามารถทำตามใจได้ทุกอย่าง (ถ้าพวกเขาไม่อนุมัติเนื้อหาหรืออนุมัติปก คุณก็จะไม่ได้พิมพ์) นอกจากนั้นแล้ว รายได้ที่คุณจะได้ปกติจะอยู่แค่ 10% ของราคาปก (เช่นถ้าเล่มละ 250 บาท พิมพ์ 4,000 เล่ม คุณจะได้ 100,000 บาท)
ขั้นตอนการออกหนังสือ
1. คิดและ Pitch ไอเดีย
ลองคิดหัวข้อหนังสือที่อยากเขียน และลองเอาไอเดียนี้ไป Pitch (นำเสนอ) ให้กับเพื่อน พี่น้อง หรือสำนักพิมพ์ ดูว่าพวกเขาซื้อไหม
2. เขียน Outline + ลองเขียนเนื้อหาจริง
พอได้ไอเดียที่น่าสนใจมาแล้ว ให้ลองเขียน Outline เพื่อให้เห็นเค้าโครงทั้งหมดของหนังสือ ถ้าคุณจะพิมพ์กับสำนักพิมพ์ เขาอาจจะขอให้คุณลองเขียนเนื้อหาจริงมา 1-2 บทก่อนด้วย
3. ทำสัญญา
ในกรณที่ทำกับสำนักพิมพ์ จะมีการทำสัญญากันเพื่อบอกว่าคุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และคุณมอบสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์เป็นผู้พิมพ์และจัดจำหน่าย
4. เขียนจริง
ลงมือเขียนจริง
สำหรับผม ขั้นนี้เป็นขั้นตอนที่ยาก ท้าทาย และกินเวลาที่สุด เพราะต้องจัดสรรเวลามาเขียน มันจะมีโมเมนต์ที่ไม่อยากเขียน ขี้เกียจทำอยู่เรื่อยๆ อารมณ์เหมือนตอนทำ Thesis หรือ Dissertation ตอนเรียนมหาวิทยาลัย
ผมเองมีงานหลักที่ต้องทำประจำ เรื่องการเขียนต้องหาเวลาว่างๆ มานั่งเขียน มันก็เลยทำให้แต่ละเล่มที่ผมเขียน ใช้เวลาเขียนไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเลย
ถ้ารู้สึกเบื่อ หรือเหนื่อย สิ่งสำคัญคือต้อง Bounce Back กลับมาให้เร็ว ไม่จำเป็นต้องเขียนให้เสร็จทั้งหมดรวดเดียว ค่อยๆ เขียนวันละนิด วันละหน่อยก็ได้
5. ส่งต้นฉบับ
อันนี้สำหรับกรณีที่คุณพิมพ์กับสำนักพิมพ์ คุณสามารถส่งต้นฉบับรวดเดียว หรือค่อยๆ ทยอยส่งให้บรรณาธิการบริหารช่วยอ่าน ช่วย Feedback ให้คุณก็ได้
บรรณาธิการบริหารของคุณอาจจะมี Feedback ที่น่าสนใจมาให้คุณปรับแก้
6. ติดต่อคนเขียนคำนิยม
ผมคิดว่าพาร์ทนี้เป็นอีกพาร์ทที่ค่อนข้างสำคัญ ซึ่ง Criteria ที่ผมอยากจะแนะนำเวลาที่คุณจะเชิญคนมาช่วยเขียนคำนิยมมี 3 อย่างคือ
- เป็นคนที่คุณเคารพ นับถือ อยากให้ลองอ่านหนังสือของคุณ
- เป็นคนที่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในหนังสือ
- เป็นคนที่อาจจะช่วยคุณโปรโมตหนังสือให้ได้
7. สรุปเรื่องปกและชื่อ
ในขั้นนี้ ถ้าคุณพิมพ์เอง คุณก็จะต้องสรุปเรื่องปกและชื่อเพื่อเตรียมพิมพ์
แต่ถ้าคุณพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ในขั้นนี้สำนักพิมพ์จะทำการออกแบบปกให้ และอาจจะมีการเสนอปรับเปลี่ยนชื่อ หลังจากที่ฝ่ายต่างๆ เช่นบรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการอำนวยการ และฝ่ายจัดจำหน่าย ระดมสมองกันมาแล้ว ซึ่งคุณอาจจะต้องมีการพูดคุย ต่อรอง หรือขอให้แก้ไขบางส่วน
ในขั้นนี้ ความคิดเห็นคุณและสำนักพิมพ์อาจจะไม่ตรงกันบ้าง แต่ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าทุกฝ่ายก็อยากให้งานออกมาดี สำนักพิมพ์เองก็จะฟังความคิดเห็นของผู้เขียน เพราะเป็นคนที่เขียนหนังสือขึ้นมา ส่วนผู้เขียนก็ต้องฟังประสบการณ์ของสำนักพิมพ์เช่นกัน เขามีประสบการรณ์ในการพิมพ์หนังสือมาเยอะกว่า เห็นมาเยอะกว่า มีข้อมูลเยอะกว่า
ทั้งนี้ผมแนะนำว่าให้เรื่องไหนสำคัญ คุณต้องมีจุดยืน เรื่องไหนพอจะรอมชอมได้ คุณก็ควรจะต้องฟังสำนักพิมพ์และหาจุดร่วมร่วมกัน
จำไว้ว่า “ทุกฝ่ายอยากให้งานออกมาดี”
8. ผลิต
ในขั้นนี้ถ้าพิมพ์กับสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์จะจัดการให้ทั้งหมด
แต่ถ้าพิมพ์เอง ในขั้นนี้คุณ (หรือทีมของคุณ) จะต้องเป็นคนพูดคุยประสานงานกับโรงพิมพ์เอง
9. โปรโมต / ปล่อยหนังสือ
ขั้นตอนสุดท้ายคือการโปรโมตและการส่งหนังสือ
สำหรับการโปรโมต ไม่ว่าจะพิมพ์เองหรือพิมพ์กับสำนักพิมพ์ คุณเองก็ต้องโปรโมตอยู่ดี เพียงแต่ว่าถ้าคุณพิมพ์เอง คุณจะต้องทำการโปรโมตเอง “หนักมาก” ถ้าคุณมีฐานผู้ติดตามเยอะอยู่แล้ว ก็จะช่วยตรงส่วนนี้ได้
สำหรับการส่งหนังสือ ถ้าพิมพ์กับสำนักพิมพ์ พวกเขาจะจัดการให้ทั้งหมด แต่ถ้าคุณพิมพ์เอง ผมแนะนำให้หาคนหรืบริษัทช่วยแพ็ค ช่วยส่งครับ มีบริษัทที่ช่วยเรื่องนี้หลายเจ้าเช่น Mycloudfulfillment, Siamoutlet และ Sokochan เป็นต้น คุณสามารถไปเลือกดูได้เลยครับ
สิ่งที่ได้จากการออกหนังสือ
ในความเห็นผมมีอยู่ 3 อย่าง ซึ่งผมขอเรียงลำดับตามความสำคัญของผมนะครับ
1. ความภูมิใจส่วนตัว
ไม่รู้คุณจะเป็นเหมือนผมไหม ตอนเด็กๆ ผมเห็นว่าการออกหนังสือมันเท่ดี เหมือนมันเป็นการได้แชร์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของเราให้กับผู้คน
ซึ่งพอได้มาออกหนังสือจริงๆ มันก็รู้สึดีจริงๆ แหละ ฮา อย่างหนังสือเล่มที่สองของผม How to Grow Your Service Business: Up ธุรกิจให้ได้ 8 หลัก ก็ถูกเขียนขึ้นมาสนอง Need เรื่องนี้เลย
2. ชื่อเสียงและการต่อยอด
การออกหนังสือทำให้คนได้มีโอกาสเห็นคุณถ่ายทอดความรู้ และถ้าคุณถ่ายทอได้ดี คนก็จะคิดว่าคุณเป็นผู้รู้ และนั่นก็ก็จะนำมาซึ่งชื่อเสียงและการต่อยอดอีกหลากหลายอย่าง
อย่างเช่น หนังสือเล่มแรกของผมกับพาร์ทเนอร์ Inbound Marketing: การตลาดแบบแรงดึงดูด ที่เราอยากจะตอบย้ำและเป็นเจ้าของคำว่า Inbound Marketing ในประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าสุดท้ายมันก็ทำหน้าที่นั้นได้ค่อนข้างดี และยังทำให้คนมารู้จักแบรนด์และเว็บไซต์ Content Shifu มากขึ้นอีกด้วย
3. รายได้
อย่างที่ผมเขียนไปตอนแรกว่าถ้าเขียนเองขายเอง กำไรทั้งหมดจะเป็นของคุณ แต่ถ้าพิมพ์กับสำนักพิมพ์โดยปกติคุณจะได้ที่ 10% ของราคาปก
สำหรับผมเอง สิ่งที่ได้ในข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญน้อยที่สุดเลย เพราะถ้าคิดแบบตรงๆ มันถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับแรงและเวลาที่ลงไป และข้อ 1 & 2 ก็เป็นข้อที่ผมรู้สึกว่าผมได้รับกลับมามากกว่าอีกด้วย
สรุป
และนี่คือขั้นตอนต่างๆ ของการออกหนังสือ รวมไปถึงสิ่งที่คุณจะได้รับจากการออกหนังสือ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้การออกหนังสือของคุณสะดวกราบรื่นขึ้น และถ้าคุณได้ออกหนังสือจริงๆ เมื่อไหร่ อย่าลืมมาบอกให้ผมรู้ด้วยนะครับ
Happy Sharing ครับ!