วิธีการทำตัวเองให้เป็น ‘คนนิสัยดี’

Featured Image Nice Personality

สัปดาห์ที่แล้วเขียนเรื่องวิธีการสร้าง ‘Good Connection’ ไป แล้วคนสนใจค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่บอกว่าให้เป็น ‘คนนิสัยดี’

ในโพสต์นี้ ผมเลยอยากเอาคำว่า ‘คนนิสัยดี’ นี้มาขยายความเพิ่มเติมครับ

คนนิสัยดี มีแต่คนอยากคุย อยากเข้าหา อยากให้ความช่วยเหลือ และให้การสนับสนุน

การเป็นคนนิสัยดีจะนำพาโอกาสดีๆ มาให้กับเราอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

ซึ่งนิสัยดีไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดี แต่มันคือการใส่ใจ พยายามทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนรู้สึกดีเพิ่มขึ้นอีกนิด ซึ่งเรื่องนี้มันสามารถฝึกให้อยู่ในทุกๆ การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้

ผมคิดว่าผมเองก็ยังเป็นคนที่นิสัยยังไม่ดีมาก ต้องพยายามฝึกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นในโพสต์นี้ ผมขอแนะนำวิธีการทำตัวเองให้เป็นคนนิสัยดี และยกตัวอย่างผ่านพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ผมเคยปฏิสัมพันธ์ด้วย แล้วผมรู้สึกว่า “ทำไมเขานิสัยดีจังนะ” แล้วกันนะครับ 🙂

7 วิธีการที่ทำให้คุณเป็นคนนิสัยดีเพิ่มขึ้นอีกหน่อย

ชื่นชมอย่างจริงใจ

เวลาเราเห็นใครทำอะไรที่ดี แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเราขยายเรื่องเล็กๆ น้อยนั้นให้ใหญ่ขึ้นอีกสักนิด ชื่นชมเขาอย่างจริงใจ ก็อาจจะทำให้คนฟังใจฟูไปได้อีกนานเลยล่ะ

เคสที่ผมจำได้และอยากยกมาเล่าให้ฟังคือ ปีที่แล้วพี่โอห์ม Yell ได้ชวนผมไปทำ Workshop ที่งาน ADMAN และตอนเจอกัน พี่เขาพูดขอบคุณและพูดว่าผู้ฟังจะได้ประโยชน์ยังไงแบบโคตรจะจริงใจ

คือจำ Message แน่ๆ ไม่ได้ แต่จำความรู้สึกที่ได้รับได้

คืองาน Digital Agency เป็นงานที่โคตรหนัก แต่ถ้าผมมี CEO เป็นพี่โอห์ม ผมว่า… (ตอนแรกจะเขียนว่างานจะเบาลง แต่คิดได้ว่า ยังไงมันก็ไม่เบาหรอก 😂)

เอาใหม่ ผมว่างานมันก็คงหนักเหมือนๆ เดิมแหละ แต่ใจเราคงเบาลงอีกเยอะเลย

ผมว่าพี่โอห์มเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญเลยที่ Yell ถึงมี Turnover ต่ำ (ทั้งๆ ที่ธุรกิจ Agency จะมี Turnover Rate ค่อนข้างสูง)

พูดเรื่องตัวเองให้น้อย พูดเรื่องอีกฝ่ายให้เยอะ

ถ้าเราเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดให้เราฟัง มากกว่าที่ให้เขาฟังที่เราพูด โอกาสที่เขาจะประทับใจในตัวเองอาจจะมีมากกว่า เพราะเขาได้แชร์ความคิด แชร์ตัวตน ของเขาให้เราแล้ว

เมื่อเขาแชร์ เขาก็จะเริ่มเปิดใจ

วิธีการเริ่มต้นง่ายๆ ของการให้อีกฝ่ายแชร์ให้เยอะคือเราต้องทำตัวเป็น “เจ้าหนูจำไม”

พยายามถามเกี่ยวกับคู่สนทนาของเรา แล้วหาสิ่งที่เราพอจะ Relate ด้วยได้ ซึ่งตัวคำถามที่ผมคิดว่าใช้ได้เรื่อยๆ คือ 1. ทำงานอะไร 2. คิดยังไงกับ [เรื่องที่เป็นกระแส] นอกจากนั้นแล้ว คำถามประเภทที่ว่า เรียนจบจากที่ไหน เชียร์บอลทีมไหน หรือชอบวงดนตรีอะไร ก็เป็นอันที่ใช้ได้เหมือนกัน

จากนั้นหาจุดร่วมที่มี แล้วพยายามชวนคุยประเด็นนั้นต่อ

คนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีและไหลลื่นๆ มากๆ คนนึงที่ผมรู้จักคือพี่เก่ง Creative Talk คือพี่เก่งเป็นคนที่คุยเก่งสมชื่อ ชอบหาเรื่องคุยในมุมที่อีกฝ่ายสนใจ ไหลๆ ไปได้กับทุกคนในทุกเรื่อง ถ้าใครรู้จักพี่เก่ง จะสังเกตเห็นว่าพี่เก่งมีเพื่อน (ไม่ใช่แค่คนรู้จักนะ) เยอะมากๆ จะจัดงานอะไรแต่ละทีก็มีคนอยากช่วยเยอะ

เข้าหาคนอื่น

การนั่งรอให้คนมาพูดคุยกับเราก่อน แล้วเราค่อยคุยด้วย มันก็อาจจะหาโอกาสพูดคุย/สนิทสนมได้ยาก และเอาจริงๆ ควบคุมไม่ได้เลย การที่เราไปเริ่มทักทาย Say Hi ก่อน เป็นเรื่องที่ง่ายและควบคุมได้ง่ายกว่ามาก

ท่าเริ่มต้นง่ายๆ คือเราอาจจะเขาไป Engage กับสิ่งดีๆ สิ่งที่น่าสนใจที่คนทำบนโลกออนไลน์ ซึ่งถ้าเรา Engage กับเขาดี และมากพอ (ในปริมาณและขอบเขตที่เหมาะสม) เขาก็อยากจะปฏิสัมพันธ์กับเราด้วย

ตัวอย่างที่ผมอยากยกขึ้นมาคือแอดทอย DataRockie ที่เข้ามา Engage กับผมอยู่เรื่อยๆ เลย คอยดูนะ ผมเชื่อว่าเดี๋ยวแอดทอยก็จะมาคอมเมนต์ ประมาณว่า ‘สุดยอดดด’ หรือ ‘ของแทร่’ บน Social Media ให้กับคอนเทนต์นี้แน่ๆ ครับ 😂

ไม่ต้อง ‘พูดตรงๆ’ ไปซะทุกเรื่อง

เรื่องบางเรื่องการพูดตรงๆ เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้เคลียร์ๆ

แต่ก็มีอีกหลายๆ เรื่องที่ถ้าเราใช้ศิลปะในการพูด ลองพูดอ้อมๆ ดู อาจจะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม โดยที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำน้ำใจ

เช่นถ้าอีกฝ่ายทำงานออกมาได้ไม่ตามที่เราคาดหวัง แทนที่เราจะบอกว่างานชิ้นนี้ยังใช้ไม่ได้เลย เราอาจจะบิดรูปประโยคนิดนึงเป็น “งานที่ออกมาเป็นอันที่ทำออกมาได้น่าสนใจเลย แต่มันอาจจะดีกว่าถ้า… หรือ และมันจะดีขึ้นถ้า…”

คนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีจากประสบการณ์ของผมคือพี่โจ้ Creative Talk ที่เสียงนุ่มมากๆ และแทบไม่เคยเจอพี่โจ้หักกับใครมาก่อน คือพี่เขามีผลลัพธ์ที่ต้องการในใจอยู่แล้ว และใช้วิธีพูดตรงบ้าง/อ้อมบ้าง สุดท้ายผลลัพธ์ก็ได้สิ่งที่ต้องการ โดยที่ความสัมพันธ์ก็ไปต่อได้ดีด้วย

ป.ล. คุ้นๆ ว่ามีคำกล่าวที่เคยกล่าวไว้ว่า ระหว่างคำว่าพูดตรง กับคำว่าพูดแรง/หยาบ มันมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ แต่ผมคิดว่ามันไม่บางเลย เส้นแบ่งโคตรชัดเจนมาก ถ้าเราพูดไปแล้วอีกฝ่ายรู้เจ็บช้ำน้ำใจ (เก็บเอาไปคิดตลอดทั้งวัน) อันนี้มันคือการพูดแรง/หยาบ การพูดตรงควรจะทำให้เราสื่อความหมายที่เราอยากสื่อได้ โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกว่ามันกระทบกับจิตใจมากนัก

ช่วยเหลือคนอื่นตามโอกาส

ผมเคยฟัง Gary Vee พูดประโยคนี้มา ผมชอบมากๆ และยังจำได้ดี

“If you provide value more than you take, you will become valuable” หรือถ้าคุณมอบคุณค่ามากกว่าที่คุณรับคุณค่า คุณจะกลายเป็นคนที่มีคุณค่า

อะไรที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ใช้ Resource เราเยอะมาก แต่ทำให้ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือได้รับประโยชน์ ผมคิดว่าทำไปก็มีแต่ข้อดี

สิ่งสำคัญของการช่วยเหลือคนอื่นคือเราต้อง Make Sure ว่าเอ็นดูเขา เอ็นเราต้องไม่ขาด

ตัวอย่างที่ผมชอบและรู้สึกขอบคุณมาเสมอๆ เลยคือคุณหนุ่ย การตลาดวันละตอน ที่ช่วยผมในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่องที่ผมร้องขอและไม่ร้องขออยู่เรื่อยๆ เลย แบบว่าพอผมจัดอีเวนต์หรือออกหนังสือใหม่ คุณหนุ่ยก็จะคอยช่วยโปรโมตให้ และที่เห็นคือไม่ใช่แค่ผม แต่คุณหนุ่ยก็พยายามช่วยคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เวลาใครมีอะไร คุณหนุ่ยและการตลาดวันละตอนจะเป็นคนที่คนก็นึกถึงอยู่เสมอครับ

ปฏิเสธอย่างมีศิลปะ

ในชีวิตจริง การ Say No มากกว่าการ Say Yes เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว (ถ้าเรา Say Yes กับทุกเรื่องที่เข้ามา บางทีเราอาจจะต้องไป Say No กับเรื่องที่สำคัญ)

แน่นอนว่าถ้าเรา Say No คนที่ถูกเรา Say No ก็คงจะต้องมีผิดหวังบ้าง แต่เราก็สามารถปฏิเสธแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ได้

ผมคิดว่าการปฏิเสธที่จะไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกแย่เกินไปคือการที่เราควรจะอธิบายเหตุผลที่เราปฏิเสธด้วย และจะดีกว่านั้นถ้าเราสามารถชี้เป้าเพิ่มเติมให้กับอีกฝ่ายได้ เช่นสมมติว่ามีคนมาขอให้ผมไปพูดที่งานสักงาน แต่ผมคิดว่าหัวข้อที่เขาชวนให้พูดไม่เหมาะกับผมจริงๆ ผมก็จะบอกไปตรงๆ พร้อมกับอธิบายว่าหัวข้อนี้ผมพูดไม่ได้ และถ้าผมนึกถึงใครได้ ผมก็จะอ้างอิงชื่อให้ต่อว่าให้ลองไปคุยกับคนนู้น คนนั้นดู

ตัวอย่างสำหรับข้อนี้ที่ผมอยากยกขึ้นมา ต้องย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ผมเคยส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิมพ์ A Book แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ ตอนนั้นคนที่โทรมาปฏิเสธผมคือพี่บิ๊ก (ปัจจุบันคือพี่บิ๊ก KND) จริงๆ เขาอาจจะหายไปเลย หรือแค่ส่งอีเมลมาปฏิเสธก็ได้ แต่สิ่งที่พี่เขาทำคือพี่เขาโทรมาอธิบายและสอน ผมเป็นเวลาเกือบ 10 นาที เลยว่าทำไมเขาถึงปฏิเสธ มันก็เลยทำให้ผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้

เคยเขียนเรื่องนี้แบบยาวๆ ไว้ที่นี่ ครับ ลองไปอ่านดูได้

ป.ล. ตอนนั้นไม่ได้ออกกับ A Book แต่สุดท้ายก็ได้ออกหนังสือจริงๆ นะครับ แถมออกมาแล้วตั้ง 4 เล่ม คือ Inbound Marketing, How to Grow Your Service Business, Productivity Flow & Content That Sells ไปหามาอ่านกันได้ครับ 😆

ถ้าคุณจำสิ่งนี้ได้ อีกฝ่ายจะประทับใจ

สิ่งที่ว่านี้คือ “ชื่อ” ของคนที่เราคุยด้วยครับ

จริงๆ ข้อนี้เป็นหนึ่งในคำแนะนำในหนังสือ How to Win Friends & Influence People ของ Dale Carnegie ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ

เวลาใครที่จำชื่อผมได้ เรียกชื่อผมได้ ผมก็จะรู้สึกดีกับคนนั้นๆ มากกว่ากับการที่เขาเรียกผมว่าคุณ คุณผู้ชาย ลูกค้า หรืออะไรก็แล้วแต่

อันนี้เป็นอันที่ผมพยายามทำนะ แต่เอาจริงๆ ต้องบอกว่าโคตรยาก โดยเฉพาะคนที่เคยเจอหน้ากันแค่ 1-2 ครั้ง หรือคนที่เคยทักทายกันแต่ช่องทางออนไลน์ แต่แค่อยากจะบอกไว้ว่าผมพยายามอยู่นะ ทุกคน 😂

ตัวอย่างที่ผมนึกออกคือพนักงานของร้าน Suitcube ของพี่สน ที่ผมจำได้ว่าพนักงานสาขาพระราม 3 ของเขาจำชื่อผมได้ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ตั้งแต่ผมไปตัดเลย คือคำว่า “คุณแบงค์” ฟังแล้วดูใกล้ชิดกว่าคำว่า “คุณลูกค้า” เยอะเลย

นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผมไปตัดสูทกับ Suitcube มาน่าจะเกือบๆ จะ 10 ตัวแล้ว

ไม่รู้ว่าเขาจำได้จริงๆ หรือเขามีเก็บข้อมูลชื่อเล่นผมไว้ในระบบ CRM 😆

สรุป

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณน่าจะพอเห็นภาพมากขึ้นว่าการเป็นคนนิสัยดีเป็นยังไง

สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ “นิสัยที่ดี” ควรจะต้องทำให้มันเป็นนิสัยจริงๆ ไม่อย่างนั้นสุดท้ายทองอาจจะลอก กลายเป็นว่าเรามีนิสัยที่ดีกับแค่คนบางคนเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่าง และคนก็คงไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่าคุณมีนิสัยที่ดีจริงๆ

และถ้าเราทำตัวให้นิสัยดีไม่ได้จริงๆ ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ อย่าทำตัวนิสัยแย่ คืออย่าทำตรงกันข้ามกับที่ผมแนะนำ (อย่าด่าคนอื่น อย่าพูดแต่เรื่องตัวเอง อย่าถือตัว อย่าพูดแรง/หยาบ ขอให้คนอื่นช่วยแต่ไม่ยอมช่วยใคร ปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย และจำชื่อใครไม่ได้)

นอกจากการพยายามทำตัวเองให้นิสัยดีแล้ว ในบริบทของการทำงาน ผมคิดว่าเราต้องบอกคนรอบตัวเราด้วย คือถ้าคนในทีม/ลูกน้องของเราเรานิสัยไม่ดี คนก็อาจจะเหมารวมไปด้วยว่าเรานิสัยไม่ดี ตามสุภาษิต “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” เลย

หวังว่าเนื้อหาในโพสต์นี้จะเป็นประโยชน์นะครับ

มาทำตัวเองให้นิสัยดีขึ้นกันนะ 🙂

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top