ทำความรู้จักการนำทั้ง 6 สไตล์ (Leadership Style) อยากนำต้องรู้!

Featured Image entrepreneurship 6 leadership styles update

มีคำกล่าวไว้ว่า “เราศึกษาอดีต เพื่อคาดการณ์อนาคต”

ถ้าลองดูจากประวัติศาสตร์ มีตัวอย่างผู้นำเจ๋งๆ มากมายให้เราได้ไปศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งผู้นำแต่ละคนก็ดูจะมีสไตล์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่นถ้าพูดถึง Steve Jobs ก็จะนึกถึงสไตล์การนำที่เน้นสั่ง (อยากได้ ต้องได้) พูดถึง Mahatma Gandhi ก็จะนึกถึงสไตล์การนำที่ใช้ความแน่วแน่ของเขาสร้างความเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ หรือถ้านึกถึง Richard Branson ก็จะนึกถึงผู้นำสไตล์กล้าทำและพร้อมลุยไปกับทีมงาน

แต่การที่ผู้นำแต่ละคนประสบความสำเร็จได้นั้น พวกเขาพึ่งพาแต่สไตล์การนำที่โดดเด่นเพียงแค่อย่างใดอย่างนึงแค่นั้นรึเปล่า?

บทความจาก Harvard Business Review (HBR) ที่เขียนโดย Daniel Goleman บอกว่าสไตล์การนำแต่ละแบบมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน และในผู้นำ 1 คนนั้นสามารถมีสไตล์การนำได้หลายอย่าง ซึ่งผู้นำที่ดีจะต้องเลือกใช้สไตล์การนำให้เหมาะกับสถานการณ์

ในบทความนี้ ผมจะพาคุณไปรู้จักกับสไตล์การนำทั้ง 6 แบบ พร้อมกับจะยกตัวอย่างให้คุณได้เห็นด้วยว่าสไตล์การนำแบบไหนเหมาะกับสถานการณ์แบบไหน

สไตล์การนำทั้ง 6 แบบ! เลือกหยิบไปใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์

1. The Coercive Style

สไตล์การนำรูปแบบแรกเป็นสไตล์การนำแบบ “ทำในสิ่งที่ฉันบอกให้ทำ” หรืออธิบายง่ายๆ ใน 1 คำคือ “เผด็จการ”

ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพูด ทำตามสั่งก็พอ

ในสถานการณ์ปกติหรือในสถานการณ์ที่องค์กรกำลังเติบโต จากการวิจัยของผู้เขียนพบว่าการนำแบบนี้เป็นการนำที่ส่งผลที่แย่ที่สุดในภาพรวม เนื่องจากผู้นำที่ใช้สไตล์การนำแบบนี้จะจำกัดความยืนหยุ่นและจินตนาการของคนด้วยคำสั่ง ซึ่งส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เกิด

ทั้งนี้ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นองค์กรมีวิกฤตหรือกำลังย่ำแย่ การนำแบบนี้ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีมากๆ วิธีหนึ่ง เพราะระหว่างวิกฤต ผู้นำต้องแข่งขันกับเวลา การสั่งให้ทำโดยไม่ต้องคิดจึงเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการจัดการกับปัญหา

Note: มีข้อแม้เล็กๆ สำหรับในก็ตามที่จะใช้วิธีการนำแบบนี้คือคุณต้องเก่ง ต้องกล้าด้วย ถ้าจะให้ดีก็ควรจะมีกุนซือดีๆ ช่วยเป็นสมองให้

ผู้นำในยามสงบและผู้นำในยามออกรบ ต้องใช้การนำที่ต่างกัน

2. The Authoritative Style

สไตล์การนำรูปแบบนี้เป็นสไตล์การนำแบบ ” Come with Me รับรองว่าดี” หรือก็คือการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน

การนำแบบนี้คือการนำที่โน้มน้าวให้ทุกคนมุ่งหน้าไปสู้เป้าหมาย… ด้วยกัน

สิ่งสำคัญสำหรับการนำแบบนี้คือ Vision และ Mission ต้องชัด และต้องหาทางพยายามที่จะสื่อสารทั้ง 2 สิ่งนี้ให้กับทุกคนในทีม และทำให้พวกเขาซึมซับสิ่งเหล่านี้เข้าไปทุกวัน ทุกวัน จนกว่าเป้าหมายจะสำเร็จ

การนำแบบนี้จะใช้ได้ดีกับองค์กรที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ช่วยให้ทีมรู้ว่าจะต้องเดินหน้ากันต่อไปยังไง

ซึ่งจากการวิจัยของผู้เขียน เขาบอกว่าวิธีการนำแบบส่งนี้ผลบวกกับบรรยากาศโดยภาพรวมที่สุด

จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน จุดหมายที่ฝันไว้คงไม่ไกลเกินไป

3. The Affiliative Style

สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การทำแบบ “People First” ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คนต้องมาก่อน

การนำแบบนี้ ผู้นำจะต้องทำให้ทุกคนในทีมแฮปปี้ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวระหว่างกัน และพยายามทำให้ผู้คนเปิดอกพูดคุยกันมากขึ้น

กลเม็ดเคล็ดลับสำหรับการนำแบบนี้มีหลายวิธีเช่นการให้ Positive Feedback เป็นประจำ การพาทีมไปกินข้าวร่วมกัน หรือการทำ One-on-one Feedback เป็นต้น

ถึงแม้ว่าสไตล์การนำแบบนี้จะเป็นสไตล์การนำที่ดี แต่ผู้เขียนบอกว่าสไตล์การนำแบบนี้ไม่ควรจะถูกใช้กับทุกสถานการณ์เพราะการชื่นชมแต่ไม่ยอมติชม การโฟกัสที่คนแต่ไม่โฟกัสที่งาน อาจจะส่งผลให้คนในทีมอืดอาดยืดยาด และไม่มีแรงกระตุ้นในการทำงาน

via GIPHY

ถ้านึกไม่ออกว่าผลลัพธ์ของการใช้แต่สไตล์ Affiliative เป็นยังไง ผมเอารูปจากหนังเรื่อง Zootopia ของ Disney มาแนบให้ดูเป็นตัวอย่างครับ 🙂

People First อย่างเดียวไม่พอ ผลลัพธ์ต้องได้ด้วย!

4. The Democratic Style

สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การนำแบบ “ประชาธิปไตย” คนส่วนใหญ่ว่ายังไง ผู้นำก็ว่าตามกัน

สไตล์การนำแบบนี้เป็นสไตล์ที่คนทุกคนจะได้มีโอกาสออกสิทธิ์ออกเสียง เสนอความคิดเห็นของตัวเองได้ เมื่อคนมีความเห็น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการร่วมด้วยช่วยกัน อยากจะทำงานออกมาให้ได้ดี

สไตล์การนำแบบ Democratic จึงเหมาะมากสำหรับตอนที่ผู้นำต้องการที่จะทำให้คนในทีม Buy-in (คือผู้นำอาจจะคิดวิธีการไว้บ้างแล้ว ซึ่งวิธีการที่ดีมากๆ วิธีนึงในการทำให้คนในทีมเชื่อในวิธีการคือการให้เขาเสนอหรือคิดวิธีการนั้นๆ ออกมากันเอง) นอกจากนั้นแล้วสไตล์การนำแบบนี้ยังเหมาะกับช่วงเวลาที่ผู้นำมี Vision ที่ชัดเจน แต่ต้องการไอเดียเพิ่มเติมในตอนที่ลงมือทำจริงๆ

ทั้งนี้จากงานวิจัยของผู้เขียน การนำแบบนี้เมื่อเทียบกับการนำในรูปแบบอื่น (ยกเว้น The Coercive Style) แล้ว ถือว่าไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากว่าผลจากการใช้สไตล์นี้ในการนำอาจจะเป็นการประชุมอย่างไม่หยุดหย่อนและคนในทีมอาจจะรู้สึกว่ามีผู้นำก็เหมือนไม่มี (เพราะผู้นำไม่ช่วยตัดสินใจเลย)

ประชาธิปไตยจะสร้างความร่วมแรงร่วมใจ ถ้าหยิบมาใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

5. The Pacesetting Style

สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การนำแบบ “ฉันทำดีให้เธอดู แล้วเธอทำดีให้ได้ตาม” ผู้นำที่ใช้สไตล์นี้มักจะพยายามแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานของการทำงานและต้องการให้คนในทีมทำตามให้ได้

ซึ่งเมื่อมีความคาดหวังเกิดขึ้น ความกดดันก็จะตามมา เพราะคนในทีมจะถูกผู้นำคาดหวังให้ทำได้ดีเหมือนกับที่ผู้นำทำ

สไตล์การนำแบบนี้เน้นการทำให้ดู มากกว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการพูดคุยและการให้ feedback ระหว่างกันอาจจะมีน้อย เมื่อการพูดคุยมีน้อย ระยะห่างก็จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าคนในทีมทำงานออกมาไม่ได้ดั่งใจผู้นำ ผู้นำก็จะไม่พอใจ บรรยากาศโดยรวมก็จะเสียไป

ทั้งนี้สไตล์การนำแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีข้อดี ผู้เขียนได้บอกไว้ว่าสไตล์การนำแบบนี้จะใช้ได้ผลดีถ้าทีมของคุณเป็นทีมที่สามารถสร้างแรงจูงใจได้ด้วยตัวเอง (Self-motivated) และมีความสามารถที่จะทำงานออกมาให้ดีได้ โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างว่าการนำสไตล์แบบนี้เหมาะกับงานที่ต้องอาศัยทักษะและความสามารถของแต่ละคนค่อนข้างสูงอย่างเช่นงานกฏหมายหรืองานวิจัยและพัฒนา

การทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งอาจจะดีกว่าถ้าทำไปด้วยกัน

6. The Coaching Style

สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การนำสาย “สอน” ให้คนในทีมเป็นคนที่เก่งขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม

การนำสไตล์แบบนี้โฟกัสที่พัฒนาการของทีมแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้คนในทีมพัฒนาจุดแข็งให้ดียิ่งขึ้น หรือเข้าใจจุดอ่อนของตัวเองมากยิ่งขึ้น

การนำสไตล์แบบนี้ต้องใช้ Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจและความเอาใจใส่ของผู้นำค่อนข้างสูงเพราะคนแต่ละคนก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน

ในความเห็นของผมการนำแบบนี้ค่อนข้างเป็นการนำแบบผู้จัดการ (อ่านเพิ่มเติม: ความแตกต่างระหว่าง Great Leader และ Great Manager)

ข้อควรระวังสำหรับสไตล์การนำรูปแบบนี้คือมันจะใช้ได้ผลกับคนที่เปิดใจว่าตัวเองยังพัฒนาได้เท่านั้น แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับองค์กรที่คนไม่อยากที่จะปรับเปลี่ยนหรือเรียนรู้เพิ่มเติม

คนคือหัวใจ ถ้าพัฒนาคนให้ดีได้ องค์กรก็จะก้าวหน้าไปได้

สรุป

ผู้นำที่ดีคือคือผู้นำที่เชี่ยวชาญในสไตล์การนำมากกว่า 1 สไตล์ และเลือกหยิบสไตล์การนำให้เหมาะกับสถานการณ์

ถ้าตอนองค์กรกำลังเจอวิกฤต ผู้นำมัวแต่ใช้ Democratic Style ฟังความเห็นของคนส่วนใหญ่ บางทีองค์กรอาจจะรอไม่ได้และพังไปก่อน กลับกัน ถ้าองค์กรอยู่ในช่วงอึนๆ ตันๆ ต้องการไอเดียใหม่ๆ มาเสริมทัพ แต่ผู้นำดันใช้ Coercive Style นวัตกรรมใหม่ๆ ก็อาจจะไม่เกิด

และ “ความเป็นผู้นำ” นั้น คนทุกคนไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด แต่ “ความเป็นผู้นำ” เกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝนครับ

“Leaders are made, not born”

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top